ไม้พุ่มหรือต้น อาจสูงได้ถึง 10 ม. ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางโตได้ถึง 20 ซม. แยกเพศต่างต้น กิ่งมักแตกแขนง มีรากค้ำยัน ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปแถบ ส่วนมากยาวได้เกิน 1 ม. แผ่นใบหนา สันใบด้านล่างและขอบใบจักเป็นหนาม เรียงห่าง ๆ หนามยาว 0.5–1 ซม. โคนใบหนาเป็นร่อง ไร้ก้าน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดมีกาบ ไม่มีวงกลีบรวม ช่อดอกเพศผู้แยกแขนง ยาว 30–60 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อกระจุกแน่น ก้านช่อยาวได้ถึง 30 ซม. คาร์เพลจำนวนมาก แยกเป็นกลุ่มย่อย (phalanges) กลุ่มละ 4–11 อัน แต่ละคาร์เพลมีออวุลเม็ดเดียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ไร้ก้าน ผลกลุ่มรูปรี ยาวได้ถึง 30 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางโตได้ถึง 20 ซม. แต่ละกลุ่มย่อยรูปไข่กลับเป็นเหลี่ยม แก่แล้วแยก ยาว 3–8 ซม. โคนที่เชื่อมติดกันเป็นเส้นใย ผลย่อยผนังชั้นในแข็ง ผนังชั้นนอกสด สุกสีแดงอมส้ม มีเส้นใย ยอดเกสรเพศเมียติดทน
พบในเอเชียตามหมู่เกาะและชายฝั่งทะเล และเกาะฮาวาย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ คล้ายกับการะเกด P. tectorius Parkinson ex Du Roi ซึ่งในไทยเข้าใจว่าพบเฉพาะที่เป็นไม้ประดับ รวมทั้งต้นที่ใบด่าง ลักษณะที่แตกต่างกันคือ เตยทะเลขอบใบมีหนามสีขาวขนาดใหญ่ กลุ่มผลย่อยขอบมีสันนูนในผลสุก ทั้งสองชนิดดอกมีกลิ่นหอม ใบและดอกมีสรรพคุณช่วยย่อย
สกุล Pandanus Parkinson มีประมาณ 650 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีประมาณ 20 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 2–3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษามาเลย์ “pandan หรือ pandang” ที่ใช้เรียกพวกเตย
|
ชื่อพ้อง Keura odorifera Forssk., Pandanus odoratissimus L.f.
|
|
|
ชื่ออื่น เตยทะเล (ภาคกลาง); ปะหนัน, ปาแนะ (มาเลย์-นราธิวาส); ลำเจียก (ภาคกลาง)
|
|
เตยทะเล: ลำต้นกิ่งมักแตกแขนง ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ขอบใบจักเป็นหนาม โคนใบหนาเป็นร่อง ไร้ก้าน ผลกลุ่มย่อยรูปไข่กลับเป็นเหลี่ยม แก่แล้วแยก ผลย่อยผนังชั้นนอกสด สุกสีแดงอมส้ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|