Index to botanical names
เตยชะงด
Pandanaceae
ไม้พุ่มเกาะหรือพาดเลื้อย ยาวได้ถึง 20 ม. มีรากอากาศ ลำต้นเกลี้ยง ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด รูปขอบขนานถึงรูปแถบ ยาว 5–25 ซม. ใบติดช่อดอกขนาดเล็กและสั้นกว่า ก้านใบสั้นโอบรอบลำต้น โคนมีติ่งกาบบาง ๆ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ช่วงปลายใบ เส้นใบจำนวนมาก ช่อดอกออกสั้น ๆ ที่ปลายยอด ส่วนมากมีเพศเดียว ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลดมีกาบหรือใบประดับ มี 2–5 ช่อ เรียงแบบช่อซี่ร่ม ยาว 4–5 ซม. ก้านช่อหนา ยาวประมาณ 1 ซม. กาบมี 3 วง สีส้มหรืออมเหลือง รูปใบหอก ยาว 5–7 ซม. ปลายจักฟันเลื่อย ไม่มีวงกลีบรวม เกสรเพศผู้เรียงอัดแน่นบนแกน รังไข่มีช่องเดียว เรียงหนาแน่น มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันล้อมรอบ ผลคล้ายผลสดมีหลายเมล็ดพบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ชวา และบอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ที่กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส ขึ้นพาดเลื้อยตามต้นไม้ริมลำธารในป่าดิบชื้น ป่าพรุ หรือป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตรสกุล Freycinetia Gaudich. มีประมาณ 180 ชนิด ในไทยมี 5 ชนิด และพบเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือ หวายฟิลิปปินส์ F. cumingiana Gaudich. ซึ่งบางครั้งเข้าใจผิดว่าเป็น F. multiflora Merr. มีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ ชื่อสกุลตั้งตามนักสำรวจชาวฝรั่งเศส Louis-Claude de Saulces de Freycinet (1779–1842)
เตยชะงด: ก้านใบสั้นโอบรอบลำต้น ขอบจักฟันเลื่อย ช่อดอกเพศเมียแบบช่อเชิงลดมีกาบ เรียงแบบช่อซี่ร่ม กาบมี 3 วง สีส้มหรืออมเหลือง ปลายจักฟันเลื่อย ไม่มีวงกลีบรวม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Stone, C.B. (1970). Materials for a monograph of Freycinetia Gaud. (Pandanaceae) V. Singapore, Malaya and Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 25: 195–197.