ไม้เถา กิ่งแก่มีช่องอากาศ ใต้ข้อมีต่อมเรียงเป็นแถว น้ำยางสีขาว ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 3–13 ซม. ก้านใบยาว 0.5–1.4 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาว 3.5–14 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1–3 มม. มีต่อมเรียงเป็นแถวที่โคน ดอกรูปดอกเข็ม สีขาว มี 5 กลีบ เรียงซ้อนทับกันด้านขวาในตาดอก หลอดกลีบยาว 0.7–1.2 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 5–8 มม. ปากหลอดกลีบมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้ปากหลอดกลีบ เกือบไร้ก้าน อับเรณูมีขนเป็นแนว 5 แนว ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย จานฐานดอกแยกเป็น 5 พู รังไข่เกลี้ยง คาร์เพลแยกกัน ปลายติดกันเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ยาว 8–9 มม. ผลเป็นฝักคู่แยกกัน รูปแถบ ยาว 10–27 ซม. เมล็ดรูปแถบ แบน ยาว 1.8–3.5 ซม. ปลายมีขนกระจุกยาว 2–3.6 ซม.
พบที่อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูง 200–1000 เมตร
สกุล Trachelospermum Lem. มีประมาณ 10 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด T. lucidum (D.Don) K.Schum. ในไทยพบที่เชียงใหม่ เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูมีขนไม่เป็นแนว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “trachelos” คอ และ “sperma” เมล็ด ตามลักษณะของเมล็ดบางชนิด
|