สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เซียนท้อ

เซียนท้อ
วันที่ 28 กันยายน 2559

Pouteria campechiana (Kunth) Baehni

Sapotaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. น้ำยางสีขาว ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรี รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 8–33 ซม. ปลายมน แหลม หรือแหลมยาว ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 0.6–1.2 ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง มี 5–6 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม มีขนด้านนอก รูปไข่กลับกว้าง ยาว 0.4–1 ซม. ดอกรูประฆัง มี 5–7 กลีบ สีเขียว ยาว 0.8–1.2 ซม. หลอดกลีบยาว 5–8 มม. มีขนกระจายด้านนอก เกสรเพศผู้ 5–7 อัน แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีเท่าจำนวนเกสรเพศผู้ เรียงระหว่างเกสรเพศผู้ ยาว 2–4 มม. ส่วนมากมี 5–7 คาร์เพล มีขน ผลสดมีหลายเมล็ด รูปรีกว้าง ยาว 3–7 ซม. ปลายมักมีจะงอยสั้น ๆ สุกสีเหลือง ก้านหนา มี 1–10 เมล็ด สีน้ำตาล เรียว แบน ๆ ยาว 2–4 ซม.

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางแถบประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และปานามา ปลูกเป็นไม้ผลในเขตร้อน ใช้ทำคัสตาร์ด แยม พาย ผสมเครื่องดื่มหรือเป็นของหวาน คำระบุชนิดมาจากชื่อเมือง Campeche ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นกัมพูชา บางครั้งจึงเรียกชื่อไทยเป็นละมุดเขมร

ชื่อพ้อง  Lucuma campechiana Kunth

ชื่อสามัญ  Canistel, Egg fruit, Yellow sapote

ชื่ออื่น   เขมา, เซียนท้อ, โตมา, ละมุดเขมร, ลูกท้อ, แอปเปิลเขมร (ภาคกลาง)

เซียนท้อ: ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกรูประฆัง มี 5–7 กลีบ สีเขียว ผลสด สุกสีเหลือง ก้านผลหนา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Wunderlin, R.P. and R.D. Whetstone. (2009). Sapotaceae (Pouteria). In Flora of North America Vol. 8: 244–245. http://www.efloras.org