สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เฉียงพร้านางแอ

เฉียงพร้านางแอ
วันที่ 13 กันยายน 2559

Carallia brachiata (Lour.) Merr.

Rhizophoraceae

ไม้ต้น ส่วนมากสูงได้ถึง 15 ม. หรือมากกว่า หูใบเชื่อมติดกัน บิดเวียน รูปใบหอก ยาว 1–2.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ยาว 5–15 ซม. ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย ก้านใบยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ยาว 1–6 ซม. มักมีชันใส ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับ 2–3 อัน ขนาดเล็ก เชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยง 6–7 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. ดอกสีขาวอมเขียว กลีบเท่าจำนวนกลีบเลี้ยง แยกจรดโคน ยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายเว้าตื้น ขอบแหว่ง มีก้านสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 12–14 อัน ติดบนจานฐานดอก ยาวไม่เท่ากัน อันสั้นติดตรงข้ามกลีบเลี้ยง อันยาวติดตรงข้ามกลีบดอก ยาว 2–3 มม. ติดทน จานฐานดอกเป็นวง รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 มม. ยอดเกสรรูปจาน จัก 4–8 พู ผลสดชุ่มน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 มม. สุกสีแดง มี 1–5 เม็ด รูปไต

พบที่มาดากัสการ์ อินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลียตอนบน และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าพรุ และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร ใบและเปลือกมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระ

สกุล Carallia Roxb. มีประมาณ 10 ชนิด พบที่มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิด คือ ชาทองเขา C. euryoides Ridl. และคอแห้งเขา C. suffruticosa Ridl. พบเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมืองที่ใช้เรียกไม้ต้นนี้ในภาษาอินเดีย “karalii

ชื่อพ้อง  Diatoma brachiata Lour.

ชื่อสามัญ  Freshwater mangrove tree

ชื่ออื่น   กวางล่าม้า (ชอง-ตราด); กูมุย (เขมร-สุรินทร์); แก็ก (ลำปาง); ขิงพร้า, เขียงพร้า (ประจวบคีรีขันธ์, ตราด); เขียงพร้านางแอ (ชุมพร); คอแห้ง (ภาคใต้); เฉียงพร้า (สุรินทร์); เฉียงพร้านางแอ, ต่อใส้ (ภาคกลาง); ตะแบง (สุรินทร์); นกข่อ (เชียงใหม่); บงคด (แพร่); บงมัง (ปราจีนบุรี, อุดรธานี); ม่วงมัง (ปราจีนบุรี); ร่มคมขวาน (กรุงเทพฯ); วงคด (ลำปาง); ส้มป้อง (เชียงใหม่); สันพร้านางแอ (ภาคกลาง); สีฟัน (ภาคใต้); สีฟันนางแอ (ภาคเหนือ); หมักมัง (ปราจีนบุรี); องคต (ลำปาง); โองนั่ง (อุตรดิตถ์)

เฉียงพร้านางแอ: ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนสั้น ๆ ออกตามซอกใบ กลีบดอกแยกจรดโคน สีขาวอมเขียว ปลายเว้าตื้น ขอบแหว่ง ผลสดชุ่มน้ำ สุกสีแดง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Hou, D. (1970). Rhizophoraceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 13.

Qin, H. and D.E. Boufford. (2007). Rhizophoraceae. In Flora of China Vol. 13: 298.