สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เคลงแดง

เคลงแดง  สกุล
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Medinilla Gaudich.

Melastomataceae

ไม้พุ่มอิงอาศัย บางครั้งขึ้นตามพื้นดิน กิ่งส่วนมากเป็นเหลี่ยม ตามข้อมักมีขนแข็ง ใบเรียงตรงข้ามหรือเรียงเป็นวงรอบ 3–5 ใบ ใบที่เรียงตรงข้ามบางครั้งลดรูป แผ่นใบหนา ใบย่อยไม่ชัดเจน ขอบใบเรียบ ช่อดอกแบบแยกแขนงหรือคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง บางครั้งลดรูปมีดอกเดียว ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ฐานดอกรูประฆังหรือรูปทรงกระบอก กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก 4–6 กลีบ หรือเกือบเรียบ กลีบดอก 4–6 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวน 2 เท่า ของกลีบดอก เรียง 2 วง ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปแถบ ปลายมีรูเปิด โคนมีรยางค์หรือไม่มี ด้านหน้าแยกเป็น 2 พู ด้านหลังมีเดือยสั้น ๆ รังไข่ 4–6 ช่อง มีช่องพิเศษ (stamen pocket หรือ extaovarian chamber) ผลสดมีหลายเมล็ด

สกุล Medinilla มีประมาณ 150 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 8–9 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 2–3 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตาม José de Medinilla y Pineda ชาวสเปน อดีตผู้ปกครองหมู่เกาะมาเรียนา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ในปี ค.ศ. 1820


เคลงแดง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Medinilla curtisii Hook.f.

Melastomataceae

ไม้พุ่มอิงอาศัย สูงได้ถึง 1 ม. ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–11.5 ซม. โคนโอบรอบกิ่ง เส้นใบออกใกล้โคนข้างละ 1 เส้น มีเส้นขอบในบาง 1 คู่ ไร้ก้าน ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาว 4–8 ซม. ก้านยาว 1.5–3 ซม. เป็นเหลี่ยมหรือปีกบาง ๆ ส่วนมากมีดอกหนาแน่น ก้านดอกยาว 0.8–1 ซม. ฐานดอกรูประฆัง ยาว 5–6 มม. มีริ้วตื้น ๆ กลีบเลี้ยงจักตื้น ๆ 4–5 กลีบ ดอกสีม่วงอมชมพู มี 4–5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาวได้ถึง 1.2 ซม. เกสรเพศผู้ยาวเท่า ๆ กัน อับเรณูยาว 5–7 มม. ผลสีแดงหรืออมส้ม รูปคนโท เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 มม.

พบที่สุมาตรา ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ตราด และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูง 800–900 เมตร

ชื่อพ้อง  Medinilla elliptica Craib

เคลงแดง: ใบเรียงตรงข้าม ไร้ก้าน เส้นใบออกใกล้โคนข้างละ 1 เส้น ช่อดอกออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ผลรูปคนโท (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Renner, S.S., G. Clausing, N. Cellinese and K. Meyer. (2001). Melastomataceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 434–438.