พืชเถาล้มลุกเบียน ลำต้นเกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. มีจุดสีน้ำตาลอมแดงกระจาย ใบลดรูปเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือแยกแขนง ออกตามด้านข้าง ยาว 1.5–3 ซม. ใบประดับคล้ายเกล็ด ก้านดอกยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มี 5 กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาว 2–2.5 มม. ด้านนอกมีตุ่ม ดอกสีขาวหรือครีม หลอดกลีบดอกยาว 5–9 มม. กลีบแฉกตื้น ๆ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม บานออก โคนด้านในมีแผ่นหลอดเกสรเพศผู้เป็นเกล็ด รูปขอบขนาน ยาวถึงประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบ ขอบจักชายครุย เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดระหว่างกลีบดอก อับเรณูไร้ก้านหรือมีก้านสั้นมาก อับเรณูสีเหลือง รังไข่มี 2 ช่อง ออวุล 4 เม็ด เกสรเพศเมียไร้ก้านหรือมีก้านสั้นมาก ยอดเกสร 2 อัน รูปลิ้น โคนเชื่อมติดกัน ผลแห้งแตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. มีตุ่มกระจาย
พบที่อินเดีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคเหนือ ขึ้นเบียนต้นไม้หลายชนิดตามชายป่า และป่าดิบเขา ความสูง 300–1900 เมตร น้ำคั้นจากต้นมีพิษทำให้อาเจียน ใช้ถอนพิษ
สกุล Cuscuta L. มีประมาณ 200 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ หลายชนิดเป็นวัชพืชร้ายแรง และหลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ในไทยมี 4 ชนิด ส่วนมากขึ้นเป็นวัชพืช โดยเฉพาะชนิดที่ลำต้นสีเหลืองหรือฝอยทอง ได้แก่ C. chinensis Lam., C. japonica Choisy และ C. reflexa Roxb. ลักษณะทั่วไปยังดูคล้ายกับพืชในสกุล Cassytha (Lauraceae) หรือสังวาลพระอินทร์ ซึ่งมีรังไข่ใต้วงกลีบ ผลสดมีหลายเมล็ด ปลายผลมีกลีบติดทน ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินหมายถึงโยกโอนเอนไปมา ตามลักษณะวิสัยที่ขึ้นคลุมต้นไม้อื่นทำให้ลำต้นโยกเอนไปมา
|