สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เกล็ดนาคราช

เกล็ดนาคราช  สกุล
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Oleandra Cav.

Oleandraceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน อิงอาศัย หรือขึ้นบนหิน เหง้าทอดนอนหรือตั้งตรง เกล็ดสีน้ำตาลดำรูปโล่ หนา เรียงซ้อนเหลื่อม ขอบมักมีขนครุย ใบเรียบ ก้านใบเป็นข้อ ส่วนที่เป็นข้อติดทนกับเหง้า เส้นกลางใบด้านล่างมักมีเกล็ดขนาดเล็ก เส้นใบบางครั้งแยกสองง่าม กลุ่มอับสปอร์ออกเดี่ยว ๆ เรียงแถวเดียวในแต่ละข้างของเส้นกลางใบ มีเยื่อคลุม รูปกลม ติดทน ส่วนมากสีน้ำตาลแดง อับสปอร์มีรอยเชื่อมเดียว (monolete spores) มีแผ่นคล้ายปีก มีหนามเล็ก ๆ หรือขอบจัก

สกุล Oleandra เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Davalliaceae ปัจจุบันเป็นสกุลเดียวของวงศ์ มี 15–20 ชนิด พบในเขตร้อนอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 4 ชนิด ชื่อสกุลหมายถึงลักษณะใบที่คล้ายกับพืชพวกยี่โถ Nerium oleander L.


เกล็ดนาคราช
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Oleandra musifolia (Blume) C.Presl

Oleandraceae

เฟินอิงอาศัย ขึ้นบนดิน หรือบนหิน เหง้าทอดเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 มม. มีรากค้ำ เกล็ดรูปใบหอก ยาว 3–7 มม. ใบเรียงกระจายเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2–4 ใบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 12–80 ซม. แผ่นใบมีขนประปราย ก้านยาว 5–8.5 ซม. ส่วนโคนถึงที่เป็นข้อต่อส่วนมากสั้น หรือยาวได้ถึง 2 ซม. มีขนและเกล็ดหนาแน่น เส้นใบแยกแขนงครั้งเดียวหรือสองครั้งใกล้เส้นกลางใบ กลุ่มอับสปอร์มีเยื่อคลุม ขนาดประมาณ 2 มม. เกลี้ยง เรียงข้างละแถวใกล้เส้นกลางใบ

พบที่ศรีลังกา ไห่หนาน ลาว เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคกลางที่เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1100–1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Aspidium musifolium Blume

ชื่ออื่น   เกล็ดนาคราช (พิษณุโลก); เถานาคราช (เลย)

เกล็ดนาคราช: เฟินขึ้นบนลานหิน กลุ่มอับสปอร์เรียงข้างละแถวใกล้เส้นกลางใบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เกล็ดนาคราช
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Pyrrosia piloselloides (L.) M.G.Price

Polypodiaceae

ดูที่ กีบม้าลม

เกล็ดนาคราชใบคลื่น
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Oleandra undulata (Willd.) Ching

Oleandraceae

เฟินอิงอาศัย ขึ้นบนดิน หรือบนหิน เหง้าทอดเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 มม. เกล็ดรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 6–7 มม. มีขนยาว ใบเรียงกระจายหรือเรียงชิดกัน รูปใบหอก โคนเรียวแคบ ยาว 15–30 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาวได้ถึง 20 ซม. ส่วนโคนถึงที่เป็นข้อต่อยาว 1.5–12 ซม. มีขน เส้นใบแยกแขนงครั้งเดียวหรือสองครั้งใกล้เส้นกลางใบ กลุ่มอับสปอร์มีเยื่อคลุมขนาดประมาณ 2.2 มม. มีขนยาว เรียงเป็นระเบียบหรือกระจายข้างละแถวใกล้เส้นกลางใบ

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว กัมพูชา และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง บนหินทรายหรือหินปูนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Polypodium undulatum Willd.

เกล็ดนาคราชใบคลื่น: ใบเรียงกระจายหรือเรียงชิดกัน แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม กลุ่มอับสปอร์มีเยื่อคลุม มีขนยาว เรียงเป็นระเบียบหรือกระจายข้างละแถวใกล้เส้นกลางใบ (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1989). Oleandraceae (Nephrolepis). In Flora of Thailand 3(2): 179–182.

Xianchun, Z. and P.H. Hovenkamp. (2013). Oleandraceae. In Flora of China Vol. 2–3: 747–748.