ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบ ก้านใบ และช่อดอก กลีบดอก เกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมีย และผลแก่สีน้ำเงิน ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 6–25 ซม. ใบอ่อนมักมีสีม่วงอมเขียว ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม ขอบจักซี่ฟัน ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น แยกแขนง กว้าง 5–10 ซม. ยาวได้ถึง 20 ซม. ก้านช่อยาว 5–10 ซม. ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 0.3–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายจักตื้น ๆ 4–7 กลีบ กลีบดอก 4–7 กลีบ บางรูปขอบขนาน ยาว 6–7 มม. พับงอกลับ เกสรเพศผู้ 10–20 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 4–5 มม. อับเรณูรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. รังไข่มี 3–5 ช่อง แนบติดหลอดกลีบเลี้ยงเกินกึ่งหนึ่ง ออวุลจำนวนมาก พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ ก้านเกสรเพศเมีย 3–5 อัน ยาวประมาณ 5 มม. ผลสดมีหลายเมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5–6 มม. เมล็ดขนาดเล็ก ผิวเป็นร่างแห
พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นริมลำธารหรือที่ชุ่มชื้นในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 200–2000 เมตร ทุกส่วนมีสรรพคุณลดไข้ (febrifuge) ซึ่งเป็นที่มาของคำระบุชนิด
สกุล Dichroa Lour. มีประมาณ 65 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียตะวันออก พบประปรายในอเมริกาเขตร้อน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dis” สอง และ “chroa” สี ตามลักษณะของดอกที่ส่วนมากมี 2 สี คือสีน้ำเงินอ่อน ๆ และน้ำเงินเข้ม
|