ไม้ล้มลุก อวบหนา สูงได้ถึง 30 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือรูปขอบขนาน เบี้ยว ยาว 5–25 ซม. ปลายแหลม โคนเป็นติ่งกลมด้านเดียว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีขนประปรายด้านล่าง ก้านใบยาว 1–4 ซม. ช่อดอกแบบช่อวงแถวเดี่ยว ออกที่ยอด 1–2 ช่อ ยาว 3–5 ซม. หรือออกตามซอกใบสั้น ๆ ก้านช่อสั้นกว่าแกนช่อ ดอกเรียงสองแถว ไร้ก้าน ใบประดับรูปไข่กลับกว้าง บาง ยาว 5–9 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 4–6 มม. เชื่อมติดรังไข่มีผนังกั้น 5 ช่อง ระหว่างช่องมีต่อมน้ำต้อย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ ยาว 2–2.5 มม. ติดทน มีขนยาวประปราย กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 3 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดระหว่างกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. อับเรณูติดที่ฐาน ปลายแหลม รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียสั้น หนา ยอดเกสรรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1 มม. มีริ้วเป็นสัน 5 สัน ผลคล้ายผลสดมีหลายเมล็ด แห้งไม่แตก รูปรี ยาว 8–9 มม.
พบที่พม่า คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยตั้งแต่ระนองลงไป ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร รากบดพอกแก้อาการบวมช้ำ
สกุล Pentaphragma Wall. ex G.Don เป็นสกุลเดียวของวงศ์ มีประมาณ 25 ชนิด พบในจีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิดคือ P. horsfieldii (Miq.) Airy Shaw พบทางภาคใต้ตอนล่างที่นราธิวาส และ P. winitii Craib พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่น่าน ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pente” ห้า และ “phragma” แนวรั้ว ตามลักษณะวงเกสรเพศเมียแยกจากฐานดอกตามรอยเว้าต่อมน้ำต้อย 5 ต่อม เหมือนแนวรั้ว
|