สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หว้า

หว้า  สกุล
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Syzygium Gaertn.

Myrtaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก ใบส่วนมากเรียงตรงข้าม มีเส้นขอบในข้างละ 1–3 เส้น หรือไม่มี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงหรือแบบช่อกระจะ ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4–5 กลีบ ฐานดอกรูปถ้วย รูปกรวย หรือรูปทรงกระบอก ส่วนมากมีก้านดอกเทียม กลีบเลี้ยงติดทน กลีบดอกแยกจรดโคน ร่วงเร็ว เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกัน ติดตามขอบฐานดอก รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2–5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ส่วนมากยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลสด มีหนึ่งหรือหลายเมล็ด

สกุล Syzygium อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Myrtoideae มีประมาณ 1000 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดคือ ฐานดอก ก้านดอกเทียม และเส้นขอบในของแผ่นใบ ในไทยมีประมาณ 85 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “syzygos” เป็นคู่ หรือเชื่อมติดกัน ตามลักษณะที่ใบเรียงตรงข้าม


หว้า
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Syzygium cumini (L.) Skeels

Myrtaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 8–13.5 ซม. ปลายแหลม มน หรือกลม โคนรูปลิ่มกว้าง แผ่นใบหนา มีเส้นขอบใน 1 เส้น เส้นแขนงใบจำนวนมาก ก้านใบยาว 0.5–2.8 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านช่อสั้น ดอกจำนวนมาก ไร้ก้าน ก้านดอกเทียมยาว 1–2 มม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว 2.5–5 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปกลม ๆ ขนาดเล็ก กลีบดอก 4 กลีบ บาง รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 1.4–2.8 มม. มีต่อม 5–19 ต่อม เกสรเพศผู้ยาว 3.8–6 มม. รังไข่มี 2 ช่อง ผลรูปรี ยาว 1–2 ซม. สุกสีดำ

พบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร ใบ ผล และเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาสมาน มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อพ้อง  Myrtus cumini L.

ชื่อสามัญ  Black plum, Jambolan

ชื่ออื่น   หว้า (ภาคกลาง); ห้าขี้แพะ (เชียงราย)

หว้า: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ไร้ก้าน ฐานดอกรูปถ้วย เกสรเพศผู้จำนวนมาก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

หว้าโละ
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Myrica esculenta Buch.-Ham. ex D.Don

Myricaceae

ดูที่ ส้มสา

หว้านา
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Syzygium cinereum (Kurz) Chantar. & J.Parn.

Myrtaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 7–15 ซม. ปลายมน กลม หรือแหลม โคนรูปลิ่ม แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบ 6–12 เส้น เรียงจรดกันเป็นเส้นขอบในไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 4–8 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ปลายกิ่งยาวได้ถึง 8 ซม. ดอกไร้ก้าน ไม่มีก้านดอกเทียม ฐานดอกรูปกรวย ยาว 2–3.5 มม. กลีบเลี้ยงขนาดเล็กมาก กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 2 มม. มีต่อมหนาแน่น เกสรเพศผู้ยาว 1.5–2.5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6–1 ซม. ผลแก่สีแดง

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่งริมลำธาร ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร

ชื่อพ้อง  Eugenia cinerea Kurz

ชื่ออื่น   เสม็ดแดง (ชุมพร); หว้านา (พังงา)

หว้านา: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก ไร้ก้าน ไม่มีก้านดอกเทียม ผลแก่สีแดง (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

หว้าน้ำ
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Fagraea racemosa Jack ex Wall.

Gentianaceae

ดูที่ ตะเคียนเฒ่า

หว้าปลอก
วันที่ 28 กันยายน 2559

Syzygium siamense (Craib) Chantar. & J.Parn.

Myrtaceae

ดูที่ ชมพู่น้ำ



เอกสารอ้างอิง

Chen, J. and L.A. Craven. (2007). Myrtaceae. In Flora of China Vol. 13: 321, 355.

Parnell, J. and P. Chantaranothai. (2002). Myrtaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(4): 811–911.