ไม้เถาล้มลุก เหง้าเจริญด้านข้าง ลำต้นเกลี้ยง แข็ง ยาวได้ถึง 20 ม. ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวได้ถึง 50 ซม. ปลายม้วนเป็นมือเกาะ ม้วนงอ โคนกลมหรือเว้าตื้น มีก้านใบเทียม ยาว 3–8 มม. โคนเป็นกาบรูปหลอด ยาว 1–7 ซม. มีริ้วตามยาว ช่อดอกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับรูปรีกว้าง สั้น ดอกไร้ก้าน กลีบรวมสีขาว มี 6 กลีบ เรียง 2 วง กลีบรูปไข่ บาง กลีบวงในใหญ่กว่าวงนอกเล็กน้อย ยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน เรียง 2 วง ยาวกว่ากลีบดอก อับเรณูติดที่ฐาน แตกตามยาว โคนรูปเงี่ยงลูกศร รังไข่มี 3 ช่อง เรียวแคบ แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรแยก 3 แฉก รูปกระบองแคบ ๆ ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–6 มม. ผนังชั้นนอกบาง ผลแก่สีแดงอมชมพู ส่วนมากมีเมล็ดเดียว
พบในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไห่หนาน ญี่ปุ่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินี ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยส่วนมากพบทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามที่ลุ่มที่ชุ่มชื้น หรือชายป่าโกงกาง มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ และเป็นยาคุมกำเนิดในเพศหญิง
สกุล Flagellaria L. เป็นสกุลเดียวของวงศ์ มีประมาณ 4 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “flagellum” แส้ ตามลักษณะลำต้น
|