สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หมามุ่ย

หมามุ่ย  สกุล
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna Adans.

Fabaceae

ไม้เถาล้มลุกหรือไม้เถาเนื้อแข็ง หูใบและหูใบย่อยร่วงเร็ว ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ใบย่อยโดยเฉพาะใบคู่ข้างมักเบี้ยว ช่อดอกส่วนมากแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือกิ่ง มีใบประดับและใบประดับย่อย กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ กลีบคู่บนเชื่อมติดกันหรือแฉกตื้น ๆ กลีบล่างรูปสามเหลี่ยมไม่เท่ากัน ดอกรูปดอกถั่ว กลีบกลางขนาดเล็ก โคนมีติ่ง มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบคู่ล่างและกลีบปีกเรียวแคบ โคนมีติ่งและก้านกลีบสั้น ๆ กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันบางส่วนด้านล่าง ปลายงุ้ม เกสรเพศผู้ 10 อัน 9 อันเชื่อมติดกัน หนึ่งอันแยกจรดโคน อันยาว 5 อัน เรียงสลับกับอันสั้น อันยาวอับเรณูติดที่ฐาน อันสั้นติดไหวได้หรือติดด้านหลัง รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรขนาดเล็ก ผลผนังหนา ส่วนมากมีริ้วเป็นสันนูน มักมีขนแข็งทำให้ระคายเคือง ขอบผลมักเป็นสันคล้ายปีก เมล็ดมีขั้ว

สกุล Mucuna มีประมาณ 100 ชนิด ในไทยเป็นพืชพื้นเมือง 13 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือพวงโกเมน M. warburgii K.Schum. & Lauterb. ชื่อสกุลเป็นภาษาบราซิเลียนที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้ หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร เมล็ดมีสาร dopamine (L-Dopa) สูง โดยเฉพาะหมามุ่ย M. pruriens (L.) DC.


หมามุ่ย
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna pruriens (L.) DC.

Fabaceae

ไม้เถา มีขนยาวสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง ก้านใบ ก้านดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–16 ซม. หูใบย่อยรูปเส้นด้าย ยาว 4–5 มม. ช่อดอกยาวได้ถึง 40 ซม. ก้านดอกยาว 2–6 มม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 6–9 มม. ร่วงเร็ว ช่วงโคนช่อไม่มีใบประดับ หลอดกลีบเลี้ยงยาว 0.5–1 ซม. กลีบคู่บนยาวกว่าคู่ข้าง ดอกส่วนมากสีม่วง กลีบกลางยาว 1.6–2.5 ซม. กลีบปีกยาว 2–4 ซม. กลีบคู่ล่างยาวกว่ากลีบปีกเล็กน้อย ฝักรูปขอบขนาน ยาว 5–9 ซม. ปลายโค้งงอ ผิวมีขนคล้ายไหมและขนคัน หรือขนยาวหนาแน่น มี 3–8 เมล็ด รูปรี ยาว 1–2 ซม.

พบที่อเมริกาเขตร้อน แอฟริกา มาดากัสการ์ และเอเชีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร แยกเป็น var. hirsuta (Wight & Arn.) Wilmot-Dear ส่วนต่าง ๆ มีขนยาวหนาแน่น ใบประดับและใบประดับย่อยกว้างกว่า และ var. utilis (Wall. ex Wight) Baker ex Burck มีขนยาวนุ่มแต่ไม่มีขนคัน ฝักรูปร่างบิดงอ มีสันคม ปลูกเป็นพืชอาหาร เป็นปุ๋ย และพืชคลุมดิน

ชื่อสามัญ  Itchy bean

ชื่ออื่น   กลออื้อแซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); บะเหยือง, หมาเหยือง (ภาคเหนือ); โพล่ยู (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); หมามุ่ย (ภาคกลาง)

หมามุ่ย: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่วงโคนช่อไม่มีใบประดับ ฝักรูปขอบขนานแคบ ๆ ปลายโค้งงอ ผิวมีขนคล้ายไหมและขนคันหนาแน่น (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

หมามุ่ยใหญ่
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna monosperma DC. ex Wight

Fabaceae

ไม้เถา มีขนคันกระจายตามกิ่ง ก้านใบ ช่อดอก ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 7–15 ซม. ช่อดอกยาว 3–6 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกตามก้านช่อ 2–5 กระจุก ก้านดอกยาว 0.6–1 ซม. ใบประดับรูปแถบ ยาว 1.5–3 ซม. กลีบเลี้ยงมีขนคันหนาแน่น หลอดกลีบกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 7 มม. ปลายแยกเป็นแฉกกว้าง กลีบล่างยาวประมาณ 4.5 ซม. กลีบคู่ข้างยาวประมาณ 2 มม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว 1.5–3 ซม. ร่วงเร็ว ดอกสีม่วง มีขนที่โคนกลีบ กลีบกลางยาวประมาณ 2.5 ซม. กลีบปีกยาว 4–4.5 ซม. กลีบคู่ล่างยาวเท่า ๆ กลีบปีก ฝักแบน รูปรี ยาว 3.5–7.5 ซม. หนาได้ถึง 2 ซม. ขอบเว้าเป็นสันคล้ายปีกทั้งสองด้าน กว้างประมาณ 5 มม. มีริ้วเป็นสันเรียงไม่เป็นระเบียบตามขวาง 5–6 ริ้ว สูง 3–5 มม. มีขนคันแข็ง ยาว ส่วนมากมีเมล็ดเดียว สีน้ำตาลแดง รูปรี ยาวประมาณ 3 ซม.

พบที่ศรีลังกา อินเดีย และพม่า ในไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือตอนล่างที่ตาก กำแพงเพชร ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่อุทัยธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ที่กระบี่ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร

ชื่ออื่น   ตำแยใหญ่ (นครราชสีมา); มะบ้าลาย (เชียงใหม่); สะบ้าลิงลาย, หมามุ่ยใหญ่ (ภาคกลาง)

หมามุ่ยใหญ่: ดอกสีม่วง ออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ขอบฝักเว้าเป็นสัน มีริ้วเป็นสันเรียงไม่เป็นระเบียบตามขวาง 5–6 ริ้ว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

หมามุ่ยช้าง
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna gigantea (Willd.) DC.

Fabaceae

ไม้เถา เกลี้ยงหรือมีขนกระจายตามกิ่ง ก้านใบ แผ่นใบ ช่อดอก ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 7–16 ซม. หูใบย่อยรูปแถบ ยาว 3–5 มม. ช่อดอกยาว 8–25 ซม. ดอกเรียงหนาแน่นคล้ายช่อซี่ร่มช่วงปลายช่อ แยกแขนงสั้น ๆ ก้านดอกยาวได้ถึง 2 ซม. ใบประดับรูปรีหรือรูปไข่แคบ ๆ ยาว 3–5 มม. ร่วงเร็ว ใบประดับย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 0.6–1.8 ซม. ติดทน กลีบเลี้ยงมีขนละเอียดและขนคันกระจาย หลอดกลีบยาว 0.8–1 ซม. กว้าง 1–1.5 ซม. แฉกรูปสามเหลี่ยม ยาว 1–3 มม. ดอกสีขาว มีสีเขียวอมเหลืองหรือชมพูแซม กลีบกลางส่วนมากยาว 2.5–3 ซม. กลีบปีกยาว 2.8–4 ซม. กลีบคู่ล่างยาวเท่า ๆ กลีบปีก ฝักแบน รูปขอบขนาน เบี้ยว ยาว 7–18 ซม. หนาประมาณ 5 มม. ขอบเป็นสันคล้ายปีกทั้งสองด้าน กว้าง 0.5–1 ซม. ผิวมีขนและขนคันแข็งกระจาย ฝักแก่เกลี้ยง ผิวมีลายเส้นละเอียด มี 1–4 เมล็ด รูปรี ยาว 2–3 ซม.

พบที่อินเดีย ไห่หนาน ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายฝั่งทะเล ที่ลุ่มมีน้ำขัง และริมแม่น้ำ ความสูงระดับต่ำ ๆ แยกเป็นชนิดย่อย subsp. plurisemina Verdc. ผลเรียวแคบกว่า มี 5–6 เมล็ด พบเฉพาะที่ฟิลิปปินส์ และนิวกินี

ชื่อพ้อง  Dolichos giganteus Willd.

ชื่อสามัญ  Burny vine, Sea bean

ชื่ออื่น   กระเจี๊ยบ, สะบ้าลิงลาย, หมามุ่ย, หมามุ่ยช้าง (ภาคกลาง)

หมามุ่ยช้าง: ดอกเรียงหนาแน่นคล้ายช่อซี่ร่มช่วงปลายช่อ ฝักแบนหนา รูปขอบขนาน หนาประมาณ 5 มม. ขอบเป็นสันคล้ายปีกทั้งสองด้าน มีขนสีน้ำตาลหนาแน่นและขนคันแข็งกระจาย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

หมามุ่ยลาย
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna stenoplax Wilmot-Dear

Fabaceae

ไม้เถา มีขนกระจายตามกิ่ง กิ่งแก่มีช่องอากาศ ใบย่อยรูปรี ยาว 9–11 ซม. ช่อดอกยาว 2–7 ซม. ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. ใบประดับย่อยรูปไข่ ยาวประมาณ 1.2 ซม. ติดทน กลีบเลี้ยงกว้างประมาณ 1.4 ซม. ยาวประมาณ 8 มม. มีขนคันหนาแน่น กลีบล่างรูปใบหอก ยาว 7–8 มม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ยาว 4–5 มม. ดอกสีม่วง กลีบกลางยาวประมาณ 3 ซม. กลีบปีกยาวประมาณ 4.5 ซม. กลีบคู่ล่างยาวเท่า ๆ กลีบปีก ฝักแบน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–9 ซม. หนาประมาณ 1 ซม. มี 2 เมล็ด ขอบเว้าเป็นสันคล้ายปีกทั้งสองด้าน กว้าง 3–4 มม. มีริ้วเป็นสันไม่เป็นระเบียบตามขวาง 12–15 ริ้ว เรียงจรดกันประมาณกึ่งกลางฝัก มีขนคันแข็ง เมล็ดสีดำ รูปรี ยาว 2–2.4 ซม.

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่ตรัง ยะลา สตูล ขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ความสูงประมาณ 150 เมตร

หมามุ่ยลาย: ฝักแบน หนา ขอบเว้าเป็นสันคล้ายปีกทั้งสองด้าน มีริ้วเป็นสันไม่เป็นระเบียบตามขวาง 12–15 ริ้ว เรียงจรดกันประมาณกึ่งกลางฝัก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

หมามุ่ย
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna gigantea (Willd.) DC.

Fabaceae

ดูที่ หมามุ่ยช้าง



เอกสารอ้างอิง

Sa, R. and C.M. Wilmot-Dear. (2010). Fabaceae (Mucuna). In Flora of China Vol. 10: 207, 213, 217.

Wilmot-Dear, C.M. (2008). Mucuna Adans. (Leguminosae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 36: 114–139.

Wilmot-Dear, C.M. (1992). A revision of Mucuna (Leguminosae: Phaseoleae) in Thailand, Indochina and the Malay Peninsula. Kew Bulletin 47(2): 203–245.