| | Lepisanthes senegalensis (Poir.) Leenh. |
|
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 20 ม. ใบประกอบส่วนมากมีใบย่อยใบเดียวหรือมีคู่เดียว บางครั้งมี 2–6 คู่ ก้านใบประกอบสั้น ใบย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 7–35 ซม. หรือยาวได้ถึง 60 ซม. ในใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดียว แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ช่อดอกยาวได้ถึง 60 ซม. ช่อกระจุกส่วนมากมี 3 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวหรือแดง รูปไข่ ยาว 1–4 มม. ดอกสีครีมอมเขียว มี 5 กลีบ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 2.5–4.5 มม. เกล็ดขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 5–9 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1–3.5 มม. มีขน รังไข่มี 2 ช่อง ผลมี 2 พู พูรูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 0.8–1.5 ซม. สีเขียว เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วงและสีม่วงเข้ม เกลี้ยง เมล็ดรูปรี สีน้ำตาลดำ ยาว 7–8 มม. มีขั้วเล็ก ๆ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะหวด, สกุล)
พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ ศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งริมลำธาร ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือป่าเสื่อมโทรม ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร เปลือกมีสรรพคุณแก้พิษ ดอก ผล และเมล็ดมีพิษ ใบใช้สระผม
| ชื่อพ้อง Sapindus senegalensis Poir.
| | | ชื่ออื่น ชำมะเลียง (ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ลำเนียงป่า (ภาคเหนือ); หมากว้อ, หมากหวอ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก)
| | หมากว้อ: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวหรือแดง ผลมี 2 พู สีเขียว เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วงและสีม่วงเข้ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
|
|
|