สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หนามพรหม

หนามพรหม
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Carissa spinarum L.

Apocynaceae

ไม้พุ่มหรือรอเลื้อย สูงได้ถึง 5 ม. กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนละเอียด มีหนามยาว 1–3 ซม. บางครั้งแยก 2 ง่าม ปลายง่ามมักแยก 2 แฉก ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือเกือบกลม ยาว 1.5–5.5 ซม. ปลายแหลมมน มีติ่งแหลม โคนรูปลิ่มถึงกลม แผ่นใบหนา เกลี้ยงหรือมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 2–5 เส้น ก้านใบยาว 1.5–4.5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว 1.5–4 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1.5–3 มม. ปลายแหลม กลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนทับกันด้านขวาในตาดอก ดอกบานรูปดอกเข็ม หลอดกลีบยาว 0.5–2 ซม. ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม กลีบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 0.2–1.5 ซม. ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ 5 อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูยาว 1–2.5 มม. ไม่มีจานฐานดอก รังไข่ 2 ช่อง เชื่อมติดกัน เกลี้ยงหรือมีปุ่มประปราย แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.3–1.1 ซม. รวมยอดเกสร ผลสดรูปไข่หรือเกือบกลม ส่วนมากยาว 1–2 ซม. สีแดงอมชมพู สุกสีดำ มีประมาณ 4 เมล็ด

พบที่แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร มีความผันแปรสูงโดยเฉพาะขนาดของใบ ดอก และผล มีสรรพคุณแก้ไวรัสตับอักเสบ และไขข้ออักเสบ

สกุล Carissa L. มีประมาณ 7 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีพืชพื้นเมืองชนิดเดียว เป็นไม้ประดับ 2 ชนิด คือ มะนาวไม่รู้โห่ C. carandas L. กลีบดอกสั้นกว่าหลอดกลีบ เส้นแขนงใบข้างละ 4–12 เส้น มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และหีบไม้งาม C. macrocarpa (Eckl.) A.DC. กลีบดอกยาวกว่าหลอดกลีบ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ชื่อสกุลมาจากภาษาสันสกฤต “kryshina” หรือภาษามาลายาลัมในอินเดีย หมายถึงสีดำของผลสุก

ชื่อพ้อง  Carissa cochinchinensis Pierre ex Pit., C. laotica Pit. var. ferruginea Kerr

ชื่ออื่น   ขี้แฮด (ภาคเหนือ); พรม, หนามพรม (ภาคกลาง)

หนามพรหม: ปลายใบแหลมมน มีติ่งแหลม ผลสุกสีดำ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 10–13.