สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หนามก้านช้าง

หนามก้านช้าง  สกุล
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Gymnosporia (Wight & Arn.) Benth. & Hook.f.

Celastraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก แยกเพศร่วมต้น แยกเพศต่างต้น หรือแกมดอกสมบูรณ์เพศ มีหนามหรือไม่มี หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียนหรือออกชิดกันคล้ายเป็นกระจุกตามกิ่งสั้น ๆ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ หนาแน่นใกล้ยอด ก้านดอกมีข้อ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ จานฐานดอกฉ่ำน้ำ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่ส่วนมากมี 3 ช่อง หรือ 2 ช่อง แต่ละช่องส่วนมากมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสร 3 หรือ 2 อัน เป็นหมันในดอกเพศผู้ ผลแห้งแตก เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

สกุล Gymnosporia เดิมอยู่ภายใต้สกุล Celastrus sect. Gymnosporia มีประมาณ 70 ชนิด บางครั้งถูกยุบให้อยู่ภายใต้สกุล Maytenus ในไทยมีประมาณ 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “gymnos” เปลือย และ “sporos” เมล็ด ตามลักษณะผลแห้งแตกเห็นเมล็ดชัดเจน


หนามก้านช้าง
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Gymnosporia mekongensis Pierre

Celastraceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 ม. มีหนามตามปลายกิ่งสั้น ๆ ใบออกเป็นกระจุกตามกิ่งสั้น รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ยาว 2–6 ซม. ปลายมน กลม หรือเว้าตื้น โคนสอบ ขอบจักมนตื้น ๆ ก้านใบสั้น ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 1 ซม. ก้านดอกยาวได้ถึง 5 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. ขอบจักไม่เป็นระเบียบ ดอกสีเขียวอมขาว กลีบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 2–2.5 มม. ปลายมน จานฐานดอกคล้ายจาน ก้านชูอับเรณูยาว 1–2 มม. รังไข่จมบนจานฐานดอกประมาณกึ่งหนึ่ง ส่วนมากมี 2 ช่อง ผลรูปไข่กลับ ยาว 6–8 มม. เมล็ดรูปรี ยาว 3–5 มม. มีเยื่อหุ้มที่โคน

พบที่ลาว เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพืชทนน้ำท่วม ขึ้นตามป่าโปร่ง ที่โล่ง ริมแม่น้ำ ความสูงระดับต่ำ ๆ

หนามก้านช้าง: ใบออกเป็นกระจุกตามกิ่งสั้น รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ดอกสีเขียวอมขาว เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก ผลรูปไข่กลับ (ภาพ: มนตรี ธนรส)



เอกสารอ้างอิง

Hou, D., I.A. Savinov and P.C. van Welzen. (2010). Celastraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(2): 166–170.