สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หญ้าเหล็กนกคุ่ม

หญ้าเหล็กนกคุ่ม
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Scrotochloa urceolata (Roxb.) Judz.

Poaceae

หญ้าหลายฤดู แยกเพศร่วมต้น สูง 30–100 ซม. กาบใบยาวกว่าปล้อง ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ยาว 12–30 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม เส้นแขนงใบย่อยเรียงตามขวาง ก้านใบเทียมยาว 2–2.5 ซม. ลิ้นกาบบาง ขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงรอบแกน ช่อย่อยออกเดี่ยว ๆ เรียงเวียน ช่อดอกเพศเมียอยู่ช่วงโคน รูปคล้ายคนโท ยาว 6–7.5.มม. ก้านช่อยาว 5–9 มม. กาบหนา กาบล่างรูปไข่แคบ ยาวประมาณ 5 มม. กาบบนรูปไข่ ยาวประมาณ 3.5 มม. มีดอกย่อยดอกเดียว กาบล่างหนา รูปโถ หุ้มกาบบน ยาว 6–9 มม. มีช่องเปิด มีขนรูปตะขอ กาบบนรูปแถบ ยาวประมาณ 9 มม. เส้นกาบ 2 เส้น ช่อดอกย่อยเพศผู้อยู่ช่วงปลายช่อ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 4–6 มม. กาบบาง รูปใบหอก ปลายมน เส้นกาบ 1 เส้น กาบล่างยาว 1.5–2 มม. กาบบนยาว 2–2.5 มม. มีดอกย่อยดอกเดียว กาบล่างรูปไข่ ยาว 4–5 มม. ปลายรูปลิ่ม เส้นกาบ 9 เส้น กาบบนรูปแถบ ยาว 4.5–5.8 มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ 6 อัน

พบที่อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบมากทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร

สกุล Scrotochloa Judz. มี 2 ชนิด อีกชนิด คือ S. tararaensis (Jansen) Judz. พบที่ปาปัวเซียและออสเตรเลีย ชื่อสกุลน่าจะมาจากภาษาละติน “scrotum” ถุงอัณฑะ และภาษากรีก “chloa” หญ้า ตามลักษณะกาบรูปโถในดอกเพศเมีย

ชื่อพ้อง  Pharus urceolatus Roxb., Leptaspis urceolata (Roxb.) R.Br.

ชื่อสามัญ  Shield grass

ชื่ออื่น   หญ้าเหนียวหมา (นครราชสีมา); หญ้าเหล็กนกคุ่ม (สตูล)

หญ้าเหล็กนกคุ่ม: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเรียงรอบแกน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Duistermaat, H. (2005). Field guide to the Grasses of Singapore (excluding the Bamboos). Gardens’ Bulletin Singapore 57: 121–122.

Gilliland, H.B., R.E. Holttum and N.L. Bor. (1971). A revised Flora of Malaya. Vol. 3. Grasses. Botanic Gardens, Government Printing Office, Singapore.