สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หญ้าน้ำค้าง

หญ้าน้ำค้าง  สกุล
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Drosera L.

Droseraceae

พืชล้มลุกกินแมลง ใบอ่อนปลายม้วน ใบและช่อดอกมีต่อมเหนียวหนาแน่น กับดักแมลงขนาดเล็ก ใบเรียงเวียนหรือเรียงเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน ช่อดอกแบบช่อวงแถวเดี่ยวหรือช่อกระจะ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 4–5 กลีบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันที่โคน เกสรเพศผู้ 5–15 อัน มี 3–5 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมีออวุล 3 เม็ดหรือจำนวนมาก พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ เกสรเพศเมีย 3–5 อัน ผลแห้งแตกตามยาว มี 3–5 ซีก เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กbr>
สกุล Drosera มีประมาณ 110 ชนิด ส่วนใหญ่พบในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในไทยมี 3 ชนิด และมีหลายชนิดที่นำเข้ามาเป็นไม้ประดับ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “drosos” น้ำค้าง หมายถึงลักษณะขนที่เป็นต่อมเหนียวเพื่อใช้ในการจับแมลง รูปร่างคล้ายหยดน้ำค้าง


หญ้าน้ำค้าง
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Drosera indica L.

Droseraceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ไม่มีหูใบ ใบรูปแถบ ยาวได้ถึง 10 ซม. กว้าง 1–2 มม. ปลายใบม้วนงอ ช่อดอกออกตามซอกใบช่วงปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 10 ซม. มีได้ถึง 20 ดอก กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 3–5 มม. กลีบดอกสีชมพูหรือสีม่วง รูปไข่กลับ ยาวเกือบ 1 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. เกสรเพศผู้มี 5 อัน ยาวประมาณ 4 มม. อับเรณูรูปขอบขนาน เกสรเพศเมีย 3 อัน แต่ละอันแยก 2 แฉกเกือบจรดโคน ผลมี 3 ซีก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3 มม.

พบในเอเชียเขตร้อน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในไทยพบกระจายทุกภาค ขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ที่โล่งและสภาพดินไม่สมบูรณ์ ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่อสามัญ  Dew plant, Flycatcher, Indian sundew

หญ้าน้ำค้าง: ใบรูปแถบ ปลายใบม้วนงอ มีต่อมเหนียวหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อวงแถวเดี่ยว กลีบดอกรูปไข่กลับ สีชมพูหรือสีม่วง เกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 3 อัน แยก 2 แฉกเกือบจรดโคน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (1987). Droseraceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 67–69.