ไม้เถา ยาวได้ถึง 6 ม. ใบส่วนมากแฉกลึก 2–7 พู กว้าง 2.5–27 ซม. ยาว 3–20 ซม. พูรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวได้ถึง 14 ซม. โคนตัดหรือเว้าตื้น มีต่อม 2 ต่อม ก้านช่อดอกยาว 3–15 ซม. ช่อดอกเพศผู้ดอกจำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียมี 2–5 ดอก มือจับ 3 อัน ยาวได้ถึง 15 ซม. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 0.5–2 ซม. ดอกรูประฆัง ยาว 1.2–2 ซม. รวมก้านต่อ (stipe) ฐานดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวได้ถึง 1.3 ซม. กลีบดอกรูปไข่ ปลายมน ยาว 0.6–1 ซม. เส้นกลีบ 3 เส้น มีก้านกลีบ ขอบจักชายครุย เกสรเพศผู้ยาว 3–5.5 มม. อับเรณูยาว 2–4 มม. ปลายมีติ่ง กะบังมีขนบาง ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ ดอกและก้านดอกสั้นกว่าเล็กน้อย รังไข่มี 3–6 เหลี่ยม มีก้านสั้น ๆ ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน เชื่อมติดกันที่โคน ยอดเกสรกลม มีปุ่มคล้ายขนแกะ ผลมี 1–3 ผลในแต่ละช่อ รูปรี ยาว 3–4 ซม. ก้านชูยาว 0.5–1 ซม. เมล็ดรูปไข่ ยาว 5–8 มม. มีรอยบุ๋มกระจาย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ปากกา, สกุล)
พบที่พม่าและลาว ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 200–1000 เมตร แยกเป็น var. muricata W.J.de Wilde พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ลำพูน ตาก ใบขนาดเล็ก หรือแฉกลึก 2–5 พู พูล่างสั้นและขนาดเล็ก มือจับมีอันเดียว ปลายอับเรณูไม่มีติ่ง เมล็ดมีขนคายละเอียด
|