สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หญ้าข้าวก่ำ

หญ้าข้าวก่ำ  สกุล
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Burmannia L.

Burmanniaceae

ไม้ล้มลุก มีใบแต่อาศัยเชื้อราหรืออาศัยเพียงบางส่วน ใบที่โคนต้นเป็นกระจุก ใบบนลำต้นส่วนมากมีขนาดเล็กหรือคล้ายเกล็ด<ฝb> ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อดอกแบบช่อกระจุกที่ยอด กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ด้านข้างส่วนมากมี 3 ปีก กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง กลีบวงนอกขนาดใหญ่กว่ากลีบวงใน ติดทน<ฝb> หรือกลีบวงในลดรูป เกสรเพศผู้ 3 อัน ส่วนมากไร้ก้าน ติดบนหลอดกลีบ ปลายแกนอับเรณูมักมีรยางค์ 2 อัน โคนมีรยางค์คล้ายเดือยหรือไม่มี รังไข่ใต้วงกลีบ<ฝb> รูปสามเหลี่ยม พลาเซนตารอบแกนร่วม มี 3 ช่อง ยอดเกสรเพศเมีย 3 แฉก คล้ายรูปปากหรือรูปแตร<ฝb> ผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

สกุล Burmannia มีประมาณ 57 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 12 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ Johannes Burman (1707–1779)


หญ้าข้าวก่ำ
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Burmannia disticha L.

Burmanniaceae

ไม้ล้มลุก สร้างอาหารเองได้ ต้นที่มีดอกสูงได้ถึง 70 ซม. ลำต้นสีเขียว ใบรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 2–15 ซม. ใบที่โคนต้นเรียงรอบโคนแบบช่อกระจุกซ้อน สั้นกว่าใบบนต้นแต่กว้างกว่า ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว ช่อแยกเป็นคู่ แต่ละช่อยาวได้เกือบ 10 ซม. มีได้ถึง 20 ดอก ใบประดับรูปใบหอก ยาว 0.5–2.5 ซม. ดอกยาว 1–3 ซม. หลอดกลีบสีน้ำเงิน มี 3 ปีก กว้าง 1–3.5 มม. กลีบรวมสีเหลือง รูปสามเหลี่ยม วงนอกยาว 1.5–4.5 มม. ขอบซ้อน ติดทน วงกลีบในรูปใบหอก ยาว 1–2 มม. โคนอับเรณูมีเดือย รังไข่รูปรี ยาว 0.6–1.2 ซม. ผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ยาวได้ถึง 2 ซม.

พบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นหนาแน่นตามทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะ หรือที่โล่งในป่าดิบเขา ความสูง 300–1500 เมตร

ชื่ออื่น   บัวหิน (เลย); หญ้าข้าวก่ำ (ภาคเหนือ)

หญ้าข้าวก่ำ: ใบที่โคนต้นสั้นกว่าใบบนต้นแต่กว้างกว่า ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว ช่อแยกเป็นคู่ หลอดกลีบสีน้ำเงิน มี 3 ปีก กลีบรวมสีเหลือง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Jonker, F.P. (1948). Burmanniaceae. In Flora Malesiana Vol. 4: 15–19.

Wu, D., D. Zhang and R.M.K. Saunders. (2010). Burmanniaceae. In Flora of China Vol. 23: 121–122.