สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

หญ้าขี้ครอก

หญ้าขี้ครอก
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Cenchrus brownii Roem. & Schult.

Poaceae

หญ้าฤดูเดียว สูง 30–50 ซม. กาบใบยาว 3–6.5 ซม. ใบรูปแถบ ยาว 12–28 ซม. ลิ้นกาบบาง ขอบมีขนครุย ช่อดอกแยกแขนงรูปทรงกระบอกแคบ ๆ ยาว 4–10.5 ซม. แกนช่อเป็นเหลี่ยม มีขนแข็งคล้ายหนาม กาบประดับเป็นขนแข็งเชื่อมติดกันที่โคนรูปถ้วย ยาว 5–6 มม. ช่อดอกย่อยมี 3–6 ช่อ รูปใบหอก ยาว 4–5 มม. กาบบนรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3 มม. มีเส้นกาบ 3 เส้น ดอกย่อยดอกล่างลดรูป เหลือเพียงกาบล่างรูปใบหอก ยาว 3.5–4 มม. เส้นกาบ 3 เส้น ดอกบนสมบูรณ์เพศ กาบหนา กาบล่างรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4 มม. เส้นกาบ 5 เส้น กาบบนรูปใบหอก มีสัน 2 สัน

พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกาตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งและชายป่า

สกุล Cenchrus L. มี 23 ชนิด พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิด คือ หญ้าสอนกระจับ C. echinatus L. ขึ้นเป็นวัชพืช มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน และ หญ้าบัฟเฟล C. ciliaris L. มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา อินเดีย และปากีสถาน ไทยนำเข้ามาปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kenchros” ข้าวฟ่าง

ชื่อสามัญ  Slim bristle sandbur

ชื่ออื่น   หญ้าขี้ครอก, หญ้าบุ้ง (ทั่วไป)

หญ้าขี้ครอก: ช่อดอกแยกแขนงรูปทรงกระบอกแคบ ๆ มีขนแข็งคล้ายหนาม กาบประดับเป็นขนแข็งเชื่อมติดกันที่โคนรูปถ้วย (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.L. and S.M. Phillips. (2006). Poaceae (Cenchrus). In Flora of China Vol. 22: 552.

Duistermaat, H. (2005). Field guide to the grasses of Singapore (excluding the Bamboos). Gardens’ Bulletin Singapore 57: 37–38.