สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ส้าน

ส้านใบเล็ก
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia ovata Wall. ex Hook.f. & Thomson

Dilleniaceae

ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 30 ม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 10–20 ซม. ปลายกลมหรือมน โคนแหลมหรืิอมน ขอบจักซี่ฟันห่าง ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 18–25 เส้น ก้านใบยาว 3–4.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่ง ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. ขยายในผล กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 2.5–3 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบบาง รูปรี ยาวประมาณ 6–7 ซม. เกสรเพศผู้วงนอกยาว 1.5–2 ซม. วงในยาวประมาณ 2.5 ซม. มี 8–12 คาร์เพล ยาว 6–7 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 ซม. ผลสดไม่แตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 ซม. รวมกลีบเลี้ยง เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้ม

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่ออื่น   ไข่เน่าดง, ตานกกด (เลย); ปล้อ (ส่วย-สุรินทร์); มะโตน (ชลบุรี); ส้านกวาง (ภาคใต้); ส้านโดยเด (นครพนม); ส้านใบเล็ก (ปัตตานี); แส้น (ตรัง)

ส้านใบเล็ก: ใบขนาดเล็ก ดอกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่ง ผลสดไม่แตก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

ส้านหิ่ง
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia parviflora Griff.

Dilleniaceae

ไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 40 ม. ใบรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 15–25 ซม. ปลายกลมหรือมน โคนแหลมหรือมน ขอบจักซี่ฟัน แผ่นใบด้านล่างมีขนสาก เส้นแขนงใบข้างละ 25–35 เส้น ก้านใบยาว 1.5–3.5 ซม. ช่อดอกมี 2–4 ดอก ออกตามกิ่งก่อนผลิใบหรือพร้อมใบ โคนมีใบประดับขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านดอกหนา ยาว 0.5–3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1.2–1.8 ซม. ด้านนอกมีขนสาก ดอกสีเหลือง กลีบบาง รูปใบพาย ยาว 2.5–3.5 ซม. เกสรเพศผู้วงนอกยาว 5–7 มม. โค้งออก วงในยาว 1.2–1.5 ซม. พับงอกลับ มี 5–8 คาร์เพล ยาว 5–6 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 7 มม. ผลสดไม่แตก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. รวมกลีบเลี้ยง สุกสีส้ม เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้ม

พบที่พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่อุทัยธานี กาญจนบุรี ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ความสูง 250–1100 เมตร

ชื่ออื่น   ควองปะดุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); มะส้านแคว้ง, มะส้านหิ่ง (เชียงใหม่); ละเว (ภาคกลาง); ส้านจา, ส้านหิน (ลำปาง); ส้านหิ่ง (เลย)

ส้านหิ่ง: ช่อดอกมี 2–4 ดอก ออกตามกิ่งก่อนผลิใบหรือพร้อมใบ กลีบดอกรูปใบพาย มี 5–8 คาร์เพล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ส้าน  สกุล
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia L.

Dilleniaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงเวียน เส้นใบเรียงขนานกัน ก้านใบบางครั้งเป็นปีกหุ้มแกนก้าน ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือแบบช่อกระจะสั้น ๆ ฐานดอกรูปกรวย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกส่วนมากมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงสด มักขยายในผล เกสรเพศผู้จำนวนมาก วงในอับเรณูยาวกว่าวงนอก อับเรณูมีรูเปิด 2 รูที่ปลาย หรือแตกตามยาว แกนอับเรณูรูปแถบ คาร์เพลจำนวนมากแนบติดฐานดอก ออวุลมีหนึ่งถึงจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเท่าจำนวนคาร์เพล ผลมีกลีบเลี้ยงที่ขยายหุ้ม แตกด้านบนตามรอยเชื่อมหรือไม่แตก เมล็ดมีเยื่อหุ้มหรือไม่มี

สกุล Dillenia มีประมาณ 65 ชนิด พบที่มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน และฟิจิ ในไทยมีประมาณ 10 ชนิด และพบเป็นไม้ประดับ 3 ชนิด คือ ส้านชวา D. suffruticosa (Griff.) Martelli ส้านดอกขาว D. philippinensis Rolfe และอีกชนิดยังไม่ทราบข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ส้านยอดแดง Dillenia sp. ยอดอ่อนมีสีน้ำตาลแดง มี 6–8 คาร์เพล พบปลูกเป็นไม้ประดับในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Johann Jacob Dillen (1684–1747)

ส้านยอดแดง: ยอดอ่อนมีสีน้ำตาลแดง มี 6–8 คาร์เพล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ส้าน
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia aurea Sm.

Dilleniaceae

ไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 15 ม. กิ่งและใบอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 20–35 ซม. ปลายกลม โคนตัดหรือแหลม ขอบจักตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ 25–35 เส้น ก้านใบยาว 3–6 ซม. ดอกออกก่อนผลิใบหรือพร้อมใบ ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2 ดอก ตามปลายกิ่งสั้น ๆ ด้านข้าง โคนมีใบประดับหลายใบ ติดทน ก้านดอกยาว 5–12 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 2.5–3 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบบาง รูปไข่ ยาวประมาณ 6.5 ซม. เกสรเพศผู้วงนอกโค้ง ยาว 1–1.2 ซม. วงในพับงอ ยาว 1.6–2.1 ซม. มี 10–12 คาร์เพล ยาว 1.2–1.3 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 ซม. ผลสดไม่แตก สุกสีส้ม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–3.5 ซม. เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้ม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ส้าน, สกุล)

พบที่อินเดีย พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ความสูง 250–1300 เมตร คล้ายกับส้านใหญ่D. obovata (Blume) Hoogland ใบรูปไข่กลับ ก้านใบสั้นกว่า มี 9–14 คาร์เพล พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ผลใช้ปรุงอาหารคล้ายมะตาด D. indica L. ที่ดอกสีขาว มี 14–20 คาร์เพล ผลขนาดใหญ่ พบทุกภาค ส่วนมากขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น

ชื่ออื่น   ปังดาว (ละว้า-เชียงใหม่); มะส้าน (เลย, นครราชสีมา); มะส้านหลวง, มะส้านหิ่ง, ส้านแว้ (เชียงใหม่); ส้าน (ทั่วไป)

ส้าน: ดอกออกก่อนผลิใบหรือพร้อมใบ โคนมีใบประดับหลายใบ ติดทน เกสรเพศผู้วงในยาวกว่าวงนอก พับงอกลับ มี 10–12 คาร์เพล ผลสดไม่แตก (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

ส้านเต่า
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia hookeri Pierre

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านดิน

ส้านเตี้ย
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia hookeri Pierre

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านดิน

ส้านแว้
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia aurea Sm.

Dilleniaceae

ดูที่ ส้าน

ส้านโดยเด
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia ovata Wall. ex Hook.f. & Thomson

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านใบเล็ก

ส้านกวาง
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia ovata Wall. ex Hook.f. & Thomson

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านใบเล็ก

ส้านจา
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia parviflora Griff.

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านหิ่ง

ส้านชวา
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia suffruticosa (Griff. ex Hook.f. & Thomson) Martelli

Dilleniaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 10 ม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 15–30 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนมน ขอบจักตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ 12–20 เส้น ก้านใบยาว 2–6 ซม. มีปีกกว้าง หุ้มใบอ่อน ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ปลายกิ่ง มี 4–18 ดอก ก้านดอกยาว 1–3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กลับ ยาว 1.5–2.2 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบบาง รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 4–5 ซม. เกสรเพศผู้สีขาว วงนอกโค้ง ยาว 6–8 มม. วงในสุดพับงอ ยาวประมาณ 1.3 ซม. มี 5–8 คาร์เพล ยาวประมาณ 5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ผลแห้งแตกอ้าออก สีแดง ยาว 2–2.5 ซม. กลีบเลี้ยงพับงอ แต่ละคาร์เพลมี 1–4 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดง

มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ชวา และสุมาตรา เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน

ชื่อพ้อง  Wormia suffruticosa Griff. ex Hook.f. & Thomson

ชื่อสามัญ  Simpoh

ชื่ออื่น   ส้านชวา, ส้านยะวา (กรุงเทพฯ)

ส้านชวา: ก้านใบมีปีกกว้าง หุ้มใบอ่อน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ส้านดอกขาว
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia philippinensis Rolfe

Dilleniaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 15 ม. ใบรูปรี รูปไข่ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 8–25 ซม. ปลายแหลม มน หรือกลม โคนมน ขอบจักตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ 10–15 เส้น ก้านใบยาว 3–5 ซม. มีปีกกว้างได้ถึง 1.2 ซม. ร่วงเร็ว ช่อดอกแบบช่อกระจะ ส่วนมากมี 1–2 ดอก แกนช่อยาว 5–15 ซม. กลีบเลี้ยงรูปกลม คู่นอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8 ซม. 3 กลีบในยาว 2–2.5 ซม. ดอกสีขาว กลีบบาง รูปไข่ ยาว 4–7 ซม. เกสรเพศผู้สีม่วงอมน้ำตาล วงนอกยาวประมาณ 1 ซม. วงในสุดพับงอ ยาว 1.5–2.3 ซม. มี 10–12 คาร์เพล ยาว 7–9 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.7 ซม. ผลสดไม่แตก กลมแป้น กว้าง 5–6 ซม. ยาว 4–5 ซม. แต่ละคาร์เพลมี 1–4 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มบาง ๆ

มีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ เป็นไม้ประดับ เนื้อในผลใช้ทำแยม มีสรรพคุณแก้ไอ เปลือกให้สีย้อมสีแดง

ชื่อสามัญ  Philippines simpoh

ส้านดอกขาว: ก้านใบมีปีกกว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจะ มี 1–2 ดอก ดอกสีขาว เกสรเพศผู้สีม่วงอมน้ำตาล มี 10–12 คาร์เพล ผลมีกลีบเลี้ยงสดหุ้ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ส้านดำ
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia excelsa (Jack) Martelli ex Gilg.

Dilleniaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 15–30 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนแหลม เบี้ยว ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันตื้น ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 10–15 เส้น ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง มีได้ถึง 12 ดอก ก้านดอกยาว 2–7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 2–3.5 ซม. เกลี้ยงหรือมีขนด้านนอก ดอกสีเหลือง กลีบบาง รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 4–5 ซม. เกสรเพศผู้วงนอกโค้งออก ยาวประมาณ 1 ซม. วงในพับงอกลับ ยาว 1.5–2 ซม. มี 5–10 คาร์เพล ยาว 1.2–1.4 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้วงใน ผลสดรูปรีกว้าง ยาว 1.8–2 ซม. แตกอ้าออก สีขาว แต่ละคาร์เพลมี 1–3 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มบาง สีแดง

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ชวา และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ

ชื่ออื่น   ซีโปแยแกะ (มาเลย์-นราธิวาส); ส้านดำ (ภาคใต้); ส้านติด (นราธิวาส); แส้น (สงขลา)

ส้านดำ: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง มี 5–10 คาร์เพล ผลแตกอ้าออกสีขาว แต่ละคาร์เพลมี 1–3 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดงบาง ๆ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ส้านดิน
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia hookeri Pierre

Dilleniaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น บางครั้งสูงได้ถึง 15 ม. มีขนยาวหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ขอบใบ และก้านดอก ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ ยาว 17–25 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนแหลม ขอบจักซี่ฟัน เส้นแขนงใบข้างละ 30–40 เส้น ก้านใบยาว 1.5–4 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1.5–4 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบบาง รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 2.5–3 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 0.8–1 ซม. มี 5–7 คาร์เพล ยาวประมาณ 5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 ซม. ไม่แตกอ้าออก เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้ม

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร

ชื่ออื่น   กะเปล่า (มอญ-กาญจนบุรี); โก้งที่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); พลูสะบาด (เขมร-สุรินทร์); ส้านดิน (ภาคกลาง); ส้านเต่า, ส้านทุ่ง (สุราษฎร์ธานี); ส้านเตี้ย (ปราจีนบุรี, ตราด); ส้านน้อย (พิษณุโลก); ส้านบาด (นครราชสีมา)

ส้านดิน: ขึ้นเป็นกอหนาแน่น ตามที่โล่ง ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ ดอกออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายกิ่ง มี 5–7 คาร์เพล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ส้านติด
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia excelsa (Jack) Martelli ex Gilg.

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านดำ

ส้านทุ่ง
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia hookeri Pierre

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านดิน

ส้านน้อย
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia hookeri Pierre

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านดิน

ส้านบาด
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia hookeri Pierre

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านดิน

ส้านมลายู
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia reticulata King

Dilleniaceae

ไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 40 ม. มีรากค้ำยัน ใบรูปรี รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ยาว 15–30 ซม. ปลายกลม เว้าตื้น ๆ โคนมน กลม หรือเว้าตื้น ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 25–35 เส้น ก้านใบยาว 4–10 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูปรีกว้าง ยาว 2–2.5 ซม. ดอกสีเหลืองนวล กลีบบาง รูปใบพาย ยาวประมาณ 3.5 ซม. เกสรเพศผู้วงนอกยาวประมาณ 1 ซม. วงในยาว 5–9 มม. มี 9–10 คาร์เพล ยาวประมาณ 6 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 5–6 มม. ผลสดไม่แตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5–4.5 ซม. รวมกลีบเลี้ยง แต่ละคาร์เพลมี 1–3 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่นราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ

ส้านมลายู: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีเหลืองนวล มี 9–10 คาร์เพล (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

ส้านยะวา
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia suffruticosa (Griff. ex Hook.f. & Thomson) Martelli

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านชวา

ส้านหิน
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Dillenia parviflora Griff.

Dilleniaceae

ดูที่ ส้านหิ่ง



เอกสารอ้างอิง

Hoogland, R.D. (1972). Dilleniaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 95–103.

Hoogland, R.D. (1951). Dilleniaceae. In Flora Malesiana Vol. 4: 101–103, 154–174.