ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 2.5–5 ซม. ปลายแหลม แผ่นใบมีขนสั้นประปราย ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 4–7 เส้น ก้านใบยาว 2–5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 3–11 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับคล้ายใบ ยาว 1–3 ซม. ก้านดอกยาว 3.5–7 มม. กลีบเลี้ยงแฉกลึก มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 2.5–4 มม. ขยายในผลเล็กน้อย ยาวเท่า ๆ ผล มีขนประปราย ดอกรูปหลอด สีขาว ยาว 0.7–1 ซม. ปลายจักรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 10 อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูยาว 5–6 มม. แบน ปลายก้านมีเดือยขนาดเล็ก 2 อัน อับเรณูมีรูเปิดที่ปลาย รังไข่เกลี้ยง มี 4–6 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาว 6–7 มม. ผลแห้งแตก รูปไข่กว้าง ยาว 3–4 มม. เมล็ดจำนวนมากขนาดเล็ก รูปเคียว
พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นตามป่าดิบเขาผสมสน ความสูง 1000–1300 เมตร
สกุล Lyonia Nutt. มีประมาณ 35 ชนิด พบในอเมริกาเหนือ และเอเชีย ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิด คือ เม้าแดง L. ovalifolia (Wall.) Drude ใบใหญ่กว่า กลีบเลี้ยงสั้นกว่าผล พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความสูงถึงประมาณ 2500 เมตร ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ John Lyon (1765–1814)
|