สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

สำมะงา

สำมะงา
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Volkameria inermis L.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม แตกกิ่งต่ำ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านช่อดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 2–8 ซม. ปลายแหลมมน โคนเรียวสอบหรือมน เส้นแขนงใบข้างละ 6–8 เส้น เรียงจรดกันเป็นเส้นขอบใน ก้านใบยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อยาว 1.5–4.5 ซม. ช่อแขนงส่วนมากมี 3 ดอก ใบประดับรูปแถบ ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายจักตื้น ๆ ไม่ชัดเจน มีต่อมกระจาย ขยายในผลเพียงเล็กน้อย ดอกรูปคล้ายดอกเข็ม สีขาว หลอดกลีบดอกเรียวแคบ ยาว 1.5–3 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เท่า ๆ กัน กลีบรูปรี ยาวประมาณ 7 มม. เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 2–3 มม. รังไข่เกลี้ยง ผลรูปไข่กลับหรือกลม ยาวประมาณ 1 ซม.

พบในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ขึ้นตามชายฝั่งทะเล และป่าชายหาด ความสูงไม่เกิน 200 เมตร ใบ ผล และเมล็ดมีสรรพคุณแก้อาการอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะจากอาหารทะเล

สกุล Volkameria L. เคยถูกยุบรวมภายใต้สกุล Clerodendrum ที่ช่อดอกส่วนมากออกตามปลายกิ่ง และกลีบเลี้ยงขยายในผล มี 25–30 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา และมาดากัสการ์ พบในเอเชียเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Johann George Volckamer (1662–1744)

ชื่อสามัญ  Embrert, Garden quinine, Glory bower, Sorcerers bush, Wild jasmine

ชื่ออื่น   เขี้ยวงู (ประจวบคีรีขันธ์); คากี (ภาคใต้); ส้มเนรา (ระยอง); สักขรีย่าน (ชุมพร); สำปันงา (สตูล); สำมะงา, สำมะลีงา, สำลีงา (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก)

สำมะงา: ใบเรียงตรงข้าม ดอกรูปคล้ายดอกเข็ม หลอดกลีบเรียวแคบ เกสรเพศผู้ ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงขยายในผล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.L. and M.G. Gilbert. (1994). Verbenaceae (Clerodendrum inerme). In Flora of China Vol. 17: 42.

Leeratiwong, C., P. Chantaranothai and A. Paton. (2011). A synopsis of the genus Clerodendrum L. (Lamiaceae) in Thailand. Tropical Natural History 11(2): 177–211.