ไม้ต้น ส่วนมากสูงไม่เกิน 20 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 1.2–6 ซม. ปลายและโคนแหลม เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 4 กลีบ ช่อดอกเพศผู้สั้นมาก ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 2–3 มม. แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ดอกรูประฆัง ยาว 2–4 มม. กลีบแฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง เกสรเพศผู้ 8–20 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญมีขนยาว ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 1–2 มม. รังไข่มี 4 ช่อง เกลี้ยง ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ผลรูปรีหรือรูปกรวย ยาว 1–1.5 ซม. สุกสีแดงอมน้ำตาล เปลี่ยนเป็นสีดำ ก้านผลยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงแฉกลึกถึงโคน เรียงซ้อนเหลื่อม ไม่พับงอกลับ เอนโดสเปิร์มเรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะเกลือ, สกุล)
พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และนิวกินี ในไทยพบทางภาคตะวันออกที่เขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี และพบทั่วไปทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร เปลือกมีสรรพคุณแก้โรคไต
|