สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

สะบ้าลิง

สะบ้าลิง
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Mucuna macrocarpa Wall.

Fabaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 70 ม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ใบอ่อน ช่อดอก กลีบเลี้ยง และฝัก ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ก้านใบประกอบยาว 8–15 ซม. ใบปลายรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 7–19 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 3–7 เส้น ใบคู่ข้างเบี้ยว ยาวเท่า ๆ ใบปลาย ช่อดอกออกตามกิ่งแก่ ยาว 5–23 ซม. ช่อกระจุกย่อยออกสั้น ๆ หนาแน่น ก้านดอกยาว 0.8–1 ซม. ใบประดับย่อยรูปไข่ ยาว 2–5 มม. ร่วงเร็ว หลอดกลีบเลี้ยงยาว 0.8–1.2 ซม. กลีบล่างยาว 5–8 มม. กลีบคู่ข้างยาวประมาณกึ่งหนึ่ง ดอกมี 2 สี กลีบกลางสีเขียวหรืออมชมพู กลีบปีกสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่างสีม่วงอ่อนหรืออมเหลือง กลีบกลางยาว 3–4.5 ซม. ขอบมีขน กลีบปีกยาว 4.5–5.5 ซม. กลีบคู่ล่างยาวกว่ากลีบปีกเล็กน้อย ฝักหนา รูปแถบ ยาว 25–48 ซม. กว้าง 3–5 ซม. หนาประมาณ 1 ซม. คอดตามเมล็ด ผิวแห้งย่นตามยาว มี 6–15 เมล็ด เมล็ดรูปรีกว้าง แบน ยาว 2–3 ซม. ขั้วเมล็ดหุ้มเกินกึ่งหนึ่ง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หมามุ่ย, สกุล)

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ญี่ปุ่น และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 600–1300 เมตร เมล็ดบดใช้ประคบบรรเทาอาการเคล็ดขัดยอก

ชื่ออื่น   เถาฮ่อม, แฮนเฮาห้อม (เลย); เบ้งเก่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); มะบ้าแมง (เชียงใหม่); ยางดำ (นครราชสีมา); สะบ้าลิง (กาญจนบุรี); สะบ้าลิงดำ (ภาคกลาง); หมักบ้าลืมดำ (สุโขทัย)

สะบ้าลิง: ไม้เถาเนื้อแข็ง ดอกมี 2 สี กลีบกลางสีเขียวหรืออมชมพู กลีบปีกสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่างสีม่วงอ่อนหรืออมเหลือง ฝักหนา คอดตามเมล็ด ผิวแห้งย่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, มนตรี ธนรส)

สะบ้าลิงดำ
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Mucuna macrocarpa Wall.

Fabaceae

ดูที่ สะบ้าลิง

สะบ้าลิงลาย
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna monosperma DC. ex Wight

Fabaceae

ดูที่ หมามุ่ยใหญ่

สะบ้าลิงลาย
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna gigantea (Willd.) DC.

Fabaceae

ดูที่ หมามุ่ยช้าง



เอกสารอ้างอิง

Sa, R. and C.M. Wilmot-Dear. (2010). Fabaceae (Mucuna). In Flora of China Vol. 10: 212.

Wilmot-Dear, C.M. (2008). Mucuna Adans. (Leguminosae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 36: 119–120.