สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

สมอ

สมอ  สกุล
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia L.

Combretaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ส่วนมากผลัดใบ ใบเรียงเวียน เกือบตรงข้าม หรือตรงข้าม มักเรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ส่วนมากมีต่อม 2 หรือหลายต่อมบนแผ่นใบช่วงโคนหรือก้านใบ ส่วนมากมีตุ่มใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ช่อกระจะ หรือช่อแยกแขนง โคนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ปลายช่อเป็นดอกเพศผู้ ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 หรือ 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ไม่ติดทน ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนสองเท่าของกลีบเลี้ยง อับเรณูติดไหวได้ จานฐานดอกมีขน รังไข่ใต้วงกลีบ มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ออวุลส่วนมากมี 2 เม็ด ผลผนังชั้นในแข็ง หรือแบบเปลือกแข็งมี 2–5 ปีก

สกุล Terminalia มีประมาณ 150 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 17 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “terminus” ปลาย หมายถึงใบส่วนมากเรียงเวียนหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง


สมอ
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Canarium denticulatum Blume

Burseraceae

ดูที่ แลนบาน

สมอเบี้ย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia chebula Retz. var. nana Gagnep.

Combretaceae

ดูที่ สมอไทย

สมอเหลี่ยม
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia citrina (Gaertn.) Roxb. ex Fleming

Combretaceae

ดูที่ สมอดีงู

สมอแหน
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

Combretaceae

ดูที่ สมอพิเภก

สมอไทย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia chebula Retz.

Combretaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีน้ำตาลแดง ใบเรียงเกือบตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 8–30 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนรูปลิ่ม มน หรือเว้าตื้น แผ่นใบมีขนตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 1–4 ซม. มีต่อมหนึ่งคู่ใกล้โคนใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว 4–10 ซม. แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ด้านในมีขนหนาแน่น รังไข่เกลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาว 1.5–2 มม. ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่กว้าง ยาว 2.5–4.5 ซม. เรียบหรือมี 5 สันตื้น ๆ เกลี้ยง ผลแก่สีดำ เมล็ดรูปรี ยาว 1.5–2 ซม. ผิวย่น

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร แก่นใช้ย้อมผ้าให้สีเหลือง ผลมีรสฝาด ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้พิษร้อนภายใน เป็นหนึ่งในตำรับยาตรีผลา ร่วมกับสมอพิเภก และมะขามป้อม แยกเป็น var. nana Gagnep. หรือสมอนั่ง เป็นไม้พุ่มเตี้ย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ var. tomentella (Kurz) C.B.Clarke พบที่พม่า และจีนตอนใต้ แผ่นใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น

ชื่อสามัญ  Myrabolan wood

ชื่ออื่น   มะนะ (ภาคเหนือ); ม่าแน่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); สมอไทย, สมออัพยา (ภาคกลาง)

สมอไทย: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ผลเรียบหรือมีสันตื้น ๆ และสมอนั่ง: var. nana (ภาพล่าง) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

สมอกานน
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Vitex pinnata L.

Lamiaceae

ดูที่ ตีนนก

สมอค่อม
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia chebula Retz. var. nana Gagnep.

Combretaceae

ดูที่ สมอไทย

สมอดีงู
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia citrina (Gaertn.) Roxb. ex Fleming

Combretaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. โคนต้นพูพอนขนาดเล็ก เปลือกเรียบหรือเป็นสะเก็ดบาง ๆ มีขนสั้นนุ่มสีแดงตามกิ่งอ่อน ใบประดับ และช่อดอก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–14 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลมหรือรูปลิ่มกว้าง ก้านใบยาว 0.5–2.5 ซม. มีต่อม 1 คู่ ที่ปลายก้านใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกไร้ก้าน หลอดกลีบเลี้ยงสั้น ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาวประมาณ 1.5 มม. ด้านในมีขนหนาแน่น ก้านชูอับเรณูยาว 2–3 มม. โคนมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มม. ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี ยาว 2–3 ซม. เกลี้ยง เรียบหรือมีสันตื้น ๆ 5 สัน สุกสีม่วงแกมเขียว เมล็ดรูปรีเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 1.5 ซม.

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง หรือที่ราบชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร ผลและเปลือกให้สีย้อมสีน้ำเงินเข้ม มีรสฝาด สมานลำไส้ เป็นยาระบาย

ชื่อพ้อง  Myrobalanus citrina Gaertn.

ชื่ออื่น   สมอดีงู (ภาคกลาง); สมอพิเภก (ภูเก็ต); สมอหมึก (พัทลุง); สมอเหลี่ยม (ชุมพร)

สมอดีงู: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี เรียบหรือมีสันตื้น ๆ 5 สัน (ภาพ: พาโชค พูดจา, ชวลิต นิยมธรรม)

สมอตีนเป็ด
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Vitex pinnata L.

Lamiaceae

ดูที่ ตีนนก

สมอตีนนก
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Vitex pinnata L.

Lamiaceae

ดูที่ ตีนนก

สมอบ่วง
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Vitex pinnata L.

Lamiaceae

ดูที่ ตีนนก

สมอป่า
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Vitex pinnata L.

Lamiaceae

ดูที่ ตีนนก

สมอพิเภก
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

Combretaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. โคนต้นมีพูพอน เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด เปลือกในสีเหลือง ใบรูปไข่กลับ ยาว 4–16 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม แผ่นใบเหนียว ด้านล่างสีเขียวเทา ใบอ่อนสีม่วงอมแดง ก้านใบยาว 3–9 ซม. มีต่อมหนึ่งคู่ด้านข้างประมาณกึ่งกลางก้านใบหรือใกล้โคนก้าน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาวได้ถึง 15 ซม. แกนช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1.5 มม. ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในมีขนยาวสีน้ำตาลหนาแน่น เกสรเพศผู้ยาว 3–5 มม. ยื่นพ้นหลอดกลีบ ผลผนังชั้นในแข็ง แก่ไม่แตก รูปรี ยาว 2–3 ซม. เรียบหรือมีสันนูน 5 สัน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น เมล็ดรูปรี ยาว 2–2.5 ซม. ผิวย่น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ สมอ, สกุล)

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลียตอนบน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร น้ำคั้นจากเปลือกแก้ไข้ แก้หวัด ผลแห้งใช้ฟอกหนัง แก้ท้องร่วง แก้ไอ เจ็บคอ และเบาหวาน

ชื่อพ้อง  Myrobalanus bellirica Gaertn.

ชื่อสามัญ  Beleric myrobalan

ชื่ออื่น   ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ลัน (เชียงราย); สมอพิเภก, สมอแหน (ภาคกลาง); สะคู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แหน, แหนขาว, แหนต้น (ภคเหนือ)

สมอพิเภก: ใบเรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงด้านในมีขนยาวหนาแน่น ผลมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, สุคิด เรืองเรื่อ)

สมอพิเภก
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia citrina (Gaertn.) Roxb. ex Fleming

Combretaceae

ดูที่ สมอดีงู

สมอรัด
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Lagerstroemia subangulata (Craib) Furtado & Montien

Lythraceae

ดูที่ สมอร่อง

สมอหมึก
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia citrina (Gaertn.) Roxb. ex Fleming

Combretaceae

ดูที่ สมอดีงู

สมอหมึก
วันที่ 30 มกราคม 2560

Terminalia pierrei Gagnep.

Combretaceae

ดูที่ เปื๋อย

สมอหิน
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Vitex pinnata L.

Lamiaceae

ดูที่ ตีนนก

สมออัพยา
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Terminalia chebula Retz.

Combretaceae

ดูที่ สมอไทย



เอกสารอ้างอิง

Exell, A.W. (1954). Combretaceae. In Flora Malasiana Vol. 4: 555–556.

Nanakorn, W. (1985). The genus Terminalia (Combretaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 15: 59–107.

Sosef, M.S.M., E. Boer, W.G. Keating, S. Sudo and L. Phuphathanaphong. (1995). Timber trees: Minor commercial timbers. In Plant Resources of South-East Asia, 5(2). PROSEA, Bogor, Indonesia.