Index to botanical names
สกุณี
Combretaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกแตกล่อนเป็นสะเก็ดหรือเป็นร่องตื้น มีขนสั้นนุ่มประปรายตามกิ่งอ่อน ก้านใบ แกนช่อดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก จานฐานดอก และผล ใบรูปไข่กลับหรือแกมรูปใบหอก ยาว 6–13 ซม. แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านล่างมีนวลสีน้ำตาลเทา เส้นกลางใบนูนด้านบน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 1–4 ซม. มีต่อมนูนหนึ่งคู่เหนือกึ่งกลางก้านใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาว 8–16 ซม. มีกลิ่นเหม็น ใบประดับรูปเส้นด้ายขนาดเล็ก ร่วงเร็ว หลอดกลีบเลี้ยงยาว 0.5–0.8 มม. ไม่มีสันตามยาว กลีบยาว 1–1.5 มม. ด้านในมีขนยาวประปราย ปลายกลีบโค้งเข้า เกสรเพศผู้ยาว 3–4 มม. จานฐานดอกจักเป็นพู ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว 3.5–4 มม. มีขน ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มี 2 ปีก กว้าง 2.5–5 ซม. ยาว 3.5–5 ซม. รวมปีก ด้านล่างมีสัน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ สมอ, สกุล)พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า และท้องไร่ท้องนา ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร
ชื่อพ้อง Gimbernatia calamansanai Blanco
ชื่ออื่น ขี้มอด (นครปฐม); ตาโหลน (สตูล); ตีนนก (จันทบุรี, ตราด); ประคำขี้ควาย (ภาคใต้); เปียแคร้ (เขมร-จันทบุรี); สกุณี, สัตคุณี (ราชบุรี); แหนแดง (ภาคเหนือ); แฮ้น (ชุมพร, นครสวรรค์)
สกุณี: ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีปีก 2 ปีก (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ)
Nanakorn, W. (1985). The genus Terminalia (Combretaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 15: 83–85.