สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ศศิธร

ศศิธร
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Merremia mammosa (Lour.) Hallier f.

Convolvulaceae

ไม้ล้มลุกเถา ยาวได้ถึง 15 ม. มีหัวใต้ดิน ลำต้นเกลี้ยง น้ำยางขาว ใบกลมหรือรูปรีกว้าง กว้าง 5–15 ซม. ยาว 6–12 ซม. ปลายแหลมมีติ่ง โคนรูปหัวใจ ก้านใบยาว 6–10 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ก้านช่อยาวได้ถึง 15 ซม. ใบประดับยาว 0.7–1 ซม. ร่วงเร็ว ดอกจำนวนมาก หลอดกลีบสีเข้ม ก้านดอกยาว 1.2–1.5 ซม. ปลายก้านหนา กลีบเลี้ยงกลีบนอก 3 กลีบ รูปไข่ ยาว 2.4–3.5 ซม. กลีบคู่ในแคบกว่า ขยายในผลเล็กน้อย ดอกรูปแตร สีขาวนวล ยาว 7–8 ซม. ปลายจักตื้น ๆ เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ มีขนด้านล่าง อับเรณูบิดเป็นเกลียว รังไข่เกลี้ยง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม. ผิวแยกเป็นเสี่ยง ๆ มี 4 เมล็ด รูปสามเหลี่ยมมน ยาวประมาณ 8 มม. ขอบมีขนหนาแน่น ขนยาว 0.8–1 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ จิงจ้อเหลือง, สกุล)

พบที่อินเดีย พม่า เวียดนาม และชวา ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มุกดาหาร ภาคตะวันออกที่อุบลราชธานี ชัยภูมิ ภาคกลางที่ลพบุรี สระบุรี และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบแล้งที่เป็นหินปูน ความสูง 100–400 เมตร ในชวาใช้หัวใต้ดินเป็นสมุนไพร และกินเป็นอาหาร

ชื่อพ้อง  Convolvulus mammosus Lour.

ชื่ออื่น   ศศิธร (ทั่วไป); หัวล้านชนกัน (สระบุรี)

ศศิธร: ช่อดอกแบบช่อกระจุก ก้านช่อยาว ปลายก้านดอกหนา กลีบเลี้ยงขยายในผลเล็กน้อย ดอกรูปแตร สีขาวนวล ผลเกลี้ยง ผิวแยกเป็นเสี่ยง เมล็ดขอบมีขนหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Hoogland, R.D. (1953). Convolvulaceae. In Flora Malesiana Vol. 4: 450–451.

Staples, G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 439.