สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ว่านหัวสืบ

ว่านหัวสืบ
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Disporum calcaratum D.Don

Asparagaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. เหง้าสั้น ลำต้นแตกกิ่ง ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 5–8 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมนหรือกลม เส้นใบเรียงขนานกัน 3–7 เส้น ก้านใบยาว 3–5 มม. ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามกิ่งด้านข้างตรงข้ามใบ มี 3–10 ดอก ก้านช่อสั้น ก้านดอกยาว 1–2 ซม. มีริ้วและปุ่มกระจาย ดอกรูปคล้ายระฆัง สีชมพูอมแดงหรือม่วง กลีบรวม 6 กลีบ แยกกัน รูปใบหอกกลับ ยาว 1.2–2 ซม. โคนมีเดือยรูปทรงกระบอก ตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 4–8 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม ยาว 1–1.8 ซม. ก้านชูอับเรณูแบน ๆ ยาว 0.7–1.3 ซม. อับเรณูยาว 4–5 มม. รังไข่มี 3 ช่อง ยาวประมาณ 3 มม. ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว 5–9 มม. ปลายแยก 3 แฉก บานออก ผลสด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. สุกสีดำ ส่วนมากมี 2 เมล็ด

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร หัวใช้กินแก้กามโรคและโรคทางเดินปัสสาวะ

สกุล Disporum Salisb. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Liliaceae, Colchicaceae หรือ Convallariaceae มีประมาณ 20 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย รวมถึงรัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dis” 2 เท่า และ “spor” เมล็ด ตามลักษณะผลที่ส่วนมากมี 2 เมล็ด

ชื่ออื่น   ครกเหล็ก (ตราด); ต้อน่ออี้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เนียมฤๅษี (ภาคเหนือ); ว่านหัวสืบ (เชียงใหม่)

ว่านหัวสืบ: ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามกิ่งด้านข้างตรงข้ามใบ โคนกลีบดอกมีเดือยตรง ยอดเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Liang, S.Y. and M.N. Tamura. (2000). Liliaceae (Disporum). In Flora of China Vol. 24: 157.