| | Labisia pumila (Blume) Fern.-Vill. |
|
ไม้ล้มลุก มีเหง้า ลำต้นสั้น มีเกล็ดสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามต้น แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ และช่อดอก ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ยอด รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 10–20 ซม. โคนเรียวสอบจรดก้านใบเป็นครีบ เส้นแขนงใบจำนวนมาก ปลายเรียงจรดกัน ก้านใบยาว 2.5–8 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ๆ คล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ยาว 2–8 ซม. ช่อย่อยมี 1–7 ดอก ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาวได้ถึง 3 มม. ก้านดอกยาว 1–2.5 มม. กลีบเลี้ยงส่วนมากมี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ติดทน มีจุดโปร่งใส ดอกสีขาวหรืออมชมพู ส่วนมากมี 5 กลีบ เรียงจรดกันในตาดอก โคนเชื่อมติดกัน กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 2.5–3 มม. ด้านนอกมีต่อมกระจาย เกสรเพศผู้เท่าจำนวนกลีบดอก ติดที่โคนและพับอยู่ภายในกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูหันเข้า ปลายมีต่อม รังไข่มีเกล็ดประปราย ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.5 มม. ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลสด ผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. สุกสีแดง มีต่อมกระจาย มีเมล็ดเดียว
พบที่กัมพูชา คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ชวา และสุมาตรา ในไทยส่วนมากพบทางภาคใต้ ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูง 100–800 เมตร ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณบำรุงครรภ์ ลดภาวะตกเลือด ช่วยให้ร่างกายฟื้นหลังการคลอด และบำรุงกำลัง
สกุล Labisia Lindl. มีประมาณ 6 ชนิด พบในภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “labis” หุ้ม ตามลักษณะกลีบดอกที่หุ้มเกสรเพศผู้
| ชื่อพ้อง Ardisia pumila Blume, Marantodes pumilum (Blume) Kuntze
| | | ชื่ออื่น พิลังสา, ว่านนางสัด (ชุมพร); ว่านนางตัด (ตรัง, สตูล)
| | ว่านนางตัด: โคนเรียวสอบจรดก้านใบเป็นครีบ เส้นแขนงใบจำนวนมาก ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ผลมีต่อมกระจาย สุกสีแดง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|