สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ว่านทับทิมสยาม

ว่านทับทิมสยาม  สกุล
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Globba L.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก เหง้าทอดเลื้อย ลิ้นกาบเรียบ ใบเรียงเวียน ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อดอกย่อยแบบช่อวงแถวเดี่ยว บางครั้งมีหัวย่อย ใบประดับย่อยแยกจรดโคน กลีบเลี้ยงรูประฆังหรือรูปลูกข่าง ปลายจักมน 3 แฉก หลอดดอกเรียวแคบ กลีบดอก 3 กลีบ ยาวเท่า ๆ กัน แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายกลีบดอก กลีบปากเชื่อมติดก้านชูอับเรณูเป็นหลอด ก้านชูอับเรณูโค้ง โคนอับเรณูส่วนมากมีรยางค์ รังไข่มีช่องเดียว พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ ผลแห้งแตกช่วงปลาย เมล็ดมีเยื่อหุ้มแหว่ง

สกุล Globba อยู่วงศ์ย่อย Zingiberoideae เผ่า Globbeae มีมากกว่า 100 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 50 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษา Amboinese ในอินโดนีเซียที่ใช้เรียกพวกขิงข่า


ว่านทับทิมสยาม
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Globba siamensis (Hemsl.) Hemsl.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 45 ซม. มี 3–6 ใบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 4–10 ซม. โคนมน แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ห้อยลง ยาว 5–12 ซม. ใบประดับสีชมพูอมม่วงหรือขาว รูปรี ยาว 1–4 ซม. ปลายแหลม พับขึ้นและบิดเล็กน้อย ดอกสีเหลืองอมส้ม หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 6 มม. หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแยกสามแฉก ยาวประมาณ 6 มม. กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ พับงอกลับ กลีบปากรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยกสองแฉก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.3 ซม. อับเรณูมีรยางค์ 2 คู่ ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7–1 ซม. ย่น สีม่วงอมแดง

พบที่ ลาว และกัมพูชา ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ความสูง 100–600 เมตร

ชื่อพ้อง  Achilus siamensis Hemsl.

ว่านทับทิมสยาม: ใบไร้ก้าน ใบประดับสีชมพูอมม่วง พับขึ้นและบิดเล็กน้อย (ภาพ: นัยนา เทศนา)



เอกสารอ้างอิง

Larsen K. (1972). Studies in the genus Globba in Thailand. Notes from the Royal Botanic Garden, Edinburgh 31: 229–241.

Wu, D. and K. Larsen. (2000). Zingiberaceae. In Flora of China Vol. 24: 358.