ไม้เถา มีขนสั้นหนานุ่มตามกิ่ง ช่อดอก และผล น้ำยางขาว ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ยาว 7–23 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนกลมหรือเว้าตื้น แผ่นใบมีขนประปราย ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ คล้ายช่อซี่ร่ม ยาวได้ถึง 13 ซม. ตาดอกเรียวแคบ กลีบเลี้ยงยาว 2–4 มม. ดอกรูปดอกเข็ม สีขาวหรืออมชมพู กลีบเรียงซ้อนทับด้านขวาในตาดอก หลอดกลีบดอกยาว 3–5 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 1.5–2 ซม. ด้านนอกมีขนละเอียด ด้านในมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 0.7–1 ซม. โคนเป็นเงี่ยง ช่วงที่เป็นหมันแนบติดยอดเกสรเพศเมีย จานฐานดอกมี 5 พู แยกกัน มี 2 คาร์เพล เกลี้ยง ปลายติดกันเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ยาวได้ถึง 2 ซม. รวมยอดเกสร ผลติดเป็นฝักคู่ ยาว 30–35 ซม. เมล็ดแบน กระจุกขนยาวประมาณ 3 ซม.
พบที่พม่าและเวียดนาม ในไทยพบแทบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร ชื่อ ว่านตรุ มาจากภาษาเขมร ‘วันตรือ’ ที่ใช้เรียกในจันทบุรี
สกุล Epigynum Wight มี 6 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “epi” ด้านนอก และภาษากรีก “gynon” เพศเมีย ตามลักษณะช่วงอับเรณูที่เป็นหมันแนบติดยอดเกสรเพศเมีย
|