ไม้ล้มลุกกินซาก ไม่มีคลอโรฟิลล์ สูง 15–25 ซม. ขึ้นเป็นกระจุก ช่อดอกสูง 10–30 ซม. ใบประดับเรียงเวียนเป็นแผ่นบาง ๆ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 1 ซม. ช่วงโคนหนา ดอกสีขาว มีดอกเดียว คล้ายรูประฆังงอลง กลีบเลี้ยง 3–5 กลีบ แนบติดกลีบดอก รูปขอบขนาน ยาว 1–1.5 ซม. ปลายแหลม ขอบจัก กลีบดอก 3–8 กลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาว 1.2–2.2 ซม. ด้านในมีขนสั้นนุ่ม โคนกลีบเป็นถุง ปลายกลม ขอบเรียบหรือจักใกล้ปลายกลีบ เกสรเพศผู้ 10–12 อัน เรียง 2 วง ขนาดไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม อับเรณูเชื่อมติดกัน เปิดด้านปลาย แกนอับเรณูมีแผ่นรยางค์ ยาวประมาณ 2 มม. จานฐานดอกมี 8–10 พู รังไข่มี 5 ช่อง โคนมีต่อมน้ำต้อย พลาเซนตารอบแกนร่วม เกสรเพศเมียยาว 2–3 มม. ยอดเกสรรูปกรวย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. ผลแห้งแตก รูปรี ตั้งขึ้น ยาว 1–1.5 ซม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก รูปกระสวย
พบทั้งในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ อินเดีย ภูฏาน เนปาล บังกลาเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูงประมาณ 2200 เมตร รากบดแก้อาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อ
สกุล Monotropa L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Monotropaceae เป็นพืชอาศัยอาหารจากพวกเห็ดรา (mycoparasitic plant) ในวงศ์ Russulaceae เช่น พวกเห็ดหล่มขาว เห็ดตะไคล เห็ดพุงหมู เห็ดแดง เป็นต้น มี 3 ชนิด ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ M. hypopithys L. พบที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “monotropos” แบบเดียว ตามลักษณะดอกที่ออกด้านข้างแบบเดียว
|