สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ว่านค้างคาว

ว่านค้างคาว  สกุล
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Tacca J.R.Forst. & G.Forst.

Dioscoreaceae

ไม้ล้มลุก เหง้าทอดเลื้อยหรือเป็นหัวกลม ๆ โคนก้านใบเป็นกาบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อยาว วงใบประดับมี 2–4 อัน หรือหลายอัน เรียงเป็นวง ใบประดับย่อยรูปเส้นด้ายจำนวนมาก กลีบรวมติดเป็นหลอดสั้นๆ รูปแตรหรือกลม มี 6 กลีบ ติดทน เกสรเพศผู้ 6 อัน เรียง 2 วง ก้านชูอับเรณูแบน ติดเหนือกลีบดอก ปลายแผ่กว้าง อับเรณูติดที่ฐาน รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 คาร์เพลเชื่อมติดกัน พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรแยก 3 แฉก โค้งพับลง ผลสดมีหลายเมล็ดหรือผลแห้งแตก

สกุล Tacca เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Taccaceae ปัจจุบันได้รวมเอาสกุล Schizocapsa ไว้ด้วย มีประมาณ 16 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคมาเลเซียและหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาพื้นเมืองในอินโดนีเซีย “taka laoet” ที่ใช้เรียกท้าวยายม่อม T. leontopetaloides (L.) Kuntze


ว่านค้างคาว
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Tacca chantrieri André

Dioscoreaceae

ไม้ล้มลุก ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 20–60 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนแหลม เบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบยาว 15–30 ซม. รวมกาบใบ ช่อดอกมี 1–3 ช่อ ยาวได้ถึง 70 ซม. แต่ละช่อมี 4–25 ดอก ใบประดับมี 2 คู่ ไร้ก้าน สีเขียวอ่อนอมม่วงหรือสีอมม่วงน้ำตาล คู่นอกรูปไข่ รูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 6 ซม. คู่ในรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 7–14 ซม. ใบประดับย่อยมี 5–25 อัน สีอ่อนกว่าใบประดับ ยาว 10–25 ซม. หลอดกลีบสั้น กลีบสีม่วงอมน้ำตาล รูปใบหอก ยาว 0.5–1.2 ซม. ก้านดอกยาว 2–3.5 ซม. ผลสดมีหลายเมล็ด รูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มีสันกลาง สีน้ำตาลม่วง เมล็ดรูปคล้ายไต

พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีน พม่า ลาว เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร บางครั้งพบเป็นไม้ประดับ

ชื่อสามัญ  Bat flower, Cat’s whiskers

ชื่ออื่น   กลาดีกลามูยี (มาเลย์-ปัตตานี); คลุ้มเลีย, ว่านหัวฬา (จันทบุรี); ดีงูหว้า (ภาคเหนือ); ดีปลาช่อน (ตราด); นิลพูสี (ตรัง); เนระพูสีไทย (ภาคกลาง); มังกรดำ (กรุงเทพฯ); ม้าถอนหลัก (ชุมพร); ละเบ๊าะบูเก๊ะ (มาเลย์-ยะลา); ว่านค้างคาว (ทั่วไป); ว่านพังพอน (ยะลา)

ว่านค้างคาว: ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ใบประดับขนาดใหญ่ 2 คู่ ไร้ก้าน ใบประดับย่อยรูปเส้นด้ายจำนวนมาก ผลรูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มีสันกลาง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1993). Taccaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 1–9.

Ting, C.C. and K. Larsen. (2000). Taccaceae. In Flora of China Vol. 24: 274.