เฟินขึ้นบนพื้นดิน เหง้าสั้นตั้งตรงขนาดใหญ่ ใบประกอบ 2 ชั้น ยาว 2–5 ม. ก้านใบยาว 1–1.5 ม. โคนก้านบวม มีหูใบสีน้ำตาลขนาดใหญ่ 1 คู่ ก้านใบและแกนใบประกอบมีรอยขีดสีขาวสั้น ๆ มีขนและเกล็ดสีน้ำตาลประปราย แผ่นใบกว้างได้ถึง 2 ม. ยาว 2–3 ม. ใบประกอบย่อยกว้าง 18–30 ซม. ยาว 15–80 ซม. ใบย่อยมี 15–30 คู่ โคนแกนใบประกอบบวม ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 1.5–4.5 ซม. ยาว 11–25 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าตื้น เบี้ยว ขอบใบจักมนหรือจักฟันเลื่อย ก้านใบย่อยบวม ยาว 3–8 มม. แผ่นใบหนา มีเกล็ดสีน้ำตาล เส้นแขนงใบแยกสาขาเป็นคู่ กลุ่มอับสปอร์อยู่ห่างจากขอบใบประมาณ 1 มม. สีน้ำตาล รูปรี มี 7–12 อับสปอร์ผนังเชื่อมติดกัน (eusporangium) ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
พบที่ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร เหง้ามีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ระงับปวด และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
สกุล Angiopteris Hoffm. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Dryopteridaceae หรือ Woodsiaceae มี 30–40 ชนิด พบที่มาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อน และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ A. angustifolia C.Presl พบที่นราธิวาส เป็นกลุ่มเฟินที่มีการเก็บตัวอย่างน้อยเนื่องจากมีขนาดใหญ่ หรือได้ตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์
|
ชื่อพ้อง Polypodium evectum G.Forst.
|
|
ชื่อสามัญ Elephant fern, Turnip fern
|
ชื่ออื่น กีบม้า (ลำพูน); กีบม้าลม (ภาคเหนือ); กีบแรด (แพร่); กูดซาง (เชียงใหม่); ดูกู (มาเลย์-ภาคใต้); ว่านกีบม้า (ภาคกลาง); ว่านกีบแรด (ทั่วไป)
|
|
ว่านกีบแรด: เฟินขนาดใหญ่ ชอบขึ้นริมน้ำ โคนก้านใบประกอบและก้านใบย่อยบวม กลุ่มอับสปอร์เรียงใกล้ขอบใบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
|
|