สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ว่านกะบุกหิน

ว่านกะบุกหิน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Arisaema fimbriatum Mast.

Araceae

ไม้ล้มลุกทิ้งใบ มีหัวใต้ดิน เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 ซม. ลำต้นสูง 25–30 ซม. ลำต้น ก้านใบ ก้านช่อดอก และกาบ สีเขียวอ่อนอมชมพูหรือม่วงอมแดง มีปื้นสีขาวแซม ใบประกอบมี 3 ใบย่อย มี 1–2 ใบ ก้านยาว 20–25 ซม. ใบย่อยรูปไข่ ยาว 20–25 ซม. ปลายแหลมยาว ก้านใบสั้นหรือยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ก้านช่อยาว 20–30 ซม. ช่วงโคนเป็นหลอดกาบรูปทรงกระบอก ยาว 6–7 ซม. กาบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 7–10 ซม. ปลายแหลมยาว พับงอกลับ ช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว 8–15 ซม. ยื่นเลยกาบ ไร้ก้านช่อ ปลายมีรยางค์เรียวยาวคล้ายหางสีม่วงอมแดง ห้อยลง มีขนแข็งยาว ช่วงดอกเพศผู้หรือดอกสมบูรณ์เพศยาว 2–3 ซม. ดอกเพศผู้เรียงห่าง ๆ กลุ่มละ 2–4 ดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก เชื่อมติดกัน ดอกเพศเมีย รังไข่รูปขวด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรคล้ายแปรง ติดทน ผลสดรูปคล้ายปริซึม ยาวประมาณ 1 ซม. สุกสีแดง มี 4 เมล็ด

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทย ที่กระบี่ พังงา ตรัง สงขลา ขึ้นตามป่าดิบชื้นที่เป็นหินปูน ความสูง 100–300 เมตร แยกเป็น subsp. bakerianum (Engl.) Gusman ใบประกอบส่วนมากมีใบเดียว หลอดกาบสีเขียวอ่อน กาบสีแดงอมม่วง ไม่มีปื้นขาวแซม เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่กระบี่ พังงา ขึ้นบนเขาหินปูนตามเกาะ

สกุล Arisaema Mart. มีประมาณ 200 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 18 ชนิด อนึ่ง สกุล Arisaema มีทั้งแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้นที่มีการเปลี่ยนเพศไปมาในแต่ละปี (paradioecious) ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aris” หรือ “aron” พืชสกุล Arum และ “haima” เลือด เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสกุล Arum

ว่านกะบุกหิน: ใบประกอบมี 3 ใบย่อย โคนเป็นหลอดกาบรูปทรงกระบอก กาบพับงอกลับ ปลายช่อมีรยางค์เรียวยาวคล้ายหางสีม่วงอมแดง ห้อยลง มีขนแข็งยาวปกคลุม ผลสดรูปคล้ายปริซึม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Gusman, G. (2012). Araceae (Arisaema). In Flora of Thailand Vol. 11(2): 199–212.