สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ลิ้นมังกร

ลิ้นมังกร
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Habenaria rhodocheila Hance

Orchidaceae

กล้วยไม้ดิน มีหัวใต้ดิน มี 2–7 ใบ เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 4–24 ซม. ปลายแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบแผ่เป็นกาบ แผ่นใบบาง บางครั้งมีจุดสีเขียวอมเทากระจาย ใบประดับ 2–10 ใบ ตั้งขึ้น รูปใบหอก ยาวได้ถึง 8 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ยาว 7–18 ซม. มีได้ถึง 20 ดอก แกนช่อยาว 1–6 ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาว 1.5–2.2 ซม. ดอกสีแดง เหลือง ส้ม และชมพู กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูปรี กลีบบนยาว 0.6–1.5 ซม. กลีบคู่ข้างยาว 0.8–1.3 ซม. โคนเชื่อมติดกับกลีบปาก กลีบดอกคล้ายถุงติดกับกลีบเลี้ยงบน รูปรี ยาว 0.6–1.3 ซม. มีเส้นกลีบ 1 เส้น กลีบปากจัก 3 พู กว้าง 1.2–2.3 ซม. ยาว 1.6–2.7 ซม. มีก้านกลีบ พูข้างแผ่ออกคล้ายพัด พูกลางรูปช้อน ยาวกว่าพูด้านข้าง ปลายแฉกลึก 2 พู เดือยรูปทรงกระบอก ยาว 3–5 ซม. เส้าเกสรยาว 3–5 มม. อับเรณูเป็นร่อง ยาว 4–8 มม. มีจะงอย ก้านดอกรวมรังไข่ ยาว 2–3 ซม. ฝักแห้งแตก รูปกระสวย ยาว 2.8–3.8 ซม

พบที่พม่า จีนตอนใต้ ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นในสภาพป่าหลายประเภท และป่าสน โดยเฉพาะบนก้อนหินริมลำธาร และลานหินทราย ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร มีความผันแปรสูงทั้งรูปร่างและสีของดอก แยกเป็น subsp. philippinensis (Ames) Christenson เป็นพืชถิ่นเดียวของฟิลิปปินส์ ส่วน subsp. rhodocheila อาจแยกเป็นหลายชนิด

สกุล Habenaria Willd. เป็นกล้วยไม้ดิน อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Orchidoideae เผ่า Orchideae มีประมาณ 600 ชนิด ในไทยมี 45 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “habena” หมายถึง สายหนังหรือสายรัด ตามลักษณะของเดือยที่ยาว

ชื่อสามัญ  Habenaria orchid

ชื่ออื่น   ปัดแดง (เลย); เฟิน (นครศรีธรรมราช); ลิ้นมังกร (ทั่วไป); สังหิน (เลย)

ลิ้นมังกร: ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบปากจัก 3 พู พูกลางรูปช้อน ปลายแฉกลึก 2 พู เดือยรูปทรงกระบอก (ภาพ: นัยนา เทศนา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Chen, X. and P.J. Cribb. (2009). Orchidaceae (Habenaria). In Flora of China Vol. 25: 144, 157.

Kurzweil, H. (2011). Orchidaceae (Habenaria). In Flora of Thailand Vol. 12(1): 134–136.