สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ลิเภา

ลิเภา  สกุล
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Lygodium Sw.

Lygodiaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน ลำต้นแตกแขนง ยาวได้หลายเมตร ใบประกอบ 2–3 ชั้น หรือหลายชั้น เรียงเวียน แกนเลื้อยพันหรือคลุมต้นไม้อื่น ใบประกอบย่อยคล้ายแยก 2 ง่าม ใบย่อยเรียบ รูปฝ่ามือ หรือจักเป็นพูคล้ายใบประกอบ ใบสร้างสปอร์คล้ายใบไม่สร้างสปอร์ ส่วนมากอยู่ช่วงปลายกิ่ง บางครั้งย่อส่วนลง เส้นใบแยกหรือเรียงจรดกัน กลุ่มอับสปอร์ติดตามขอบจักด้านล่างของแผ่นใบ มีเยื่อคลุม

สกุล Lygodium เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Schizaeaceae มีประมาณ 40 ชนิด พบในเขตร้อน ทั้งอเมริกา แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 7 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “lygodes” คล้ายต้นหลิว เลื้อยพัน ตามลักษณะลำต้น หลายชนิดลำต้นและแกนกลางใบเหนียว ใช้ทำเครื่องจักสาน


ลิเภา
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Lygodium salicifolium C.Presl

Lygodiaceae

ดูที่ ลิเภาใหญ่

ลิเภาใหญ่
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Lygodium salicifolium C.Presl

Lygodiaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน เลื้อยยาวได้ถึง 10 ม. หรือยาวกว่านี้ เหง้าทอดนอน มีขนสีน้ำตาล ใบประกอบ 2–3 ชั้น ก้านใบมีครีบแคบ ๆ มีขนประปราย ปลายแยกสองครั้ง แกนกลางใบประกอบแรกยาว 2–4 มม. ปลายงัน มีขนสีน้ำตาล แกนกลางใบประกอบชั้นที่สองแยกเป็นใบประกอบย่อย กว้าง 4–26 ซม. ยาว 10–28 ซม. โคนแกนใบประกอบมีข้อ มีใบย่อย 3–6 คู่ ยาวเท่า ๆ กัน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 4.5–10 ซม. ปลายแหลมยาว โคนคล้ายเงี่ยงรูปใบหอก ขอบจักซี่ฟัน แผ่นใบบาง ก้านใบย่อยยาว 1–7 มม. โคนก้านมีข้อ เส้นแขนงใบแยกเป็นคู่ อับสปอร์เรียงเป็นกลุ่ม กว้างประมาณ 1 มม. ยาว 2–7 มม.

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ ไห่หนาน ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และไมโครนีเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่งที่ลาดชัน ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร

ชื่อสามัญ  String fern

ชื่ออื่น   กะฉอด (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); กูดคือ (น่าน); ตีนตะขาบ (พิจิตร); รีบูบาซา, ลิบูบือซา (มาเลย์-นราธิวาส); ลิเภา, สายพานผี, อู่ตะเภา (ภาคใต้); ลิเภาใหญ่ (ปัตตานี); หญ้ายายเภา (จันทบุรี, ภาคใต้); หมอยแม่ม่าย (นครราชสีมา, ราชบุรี)

ลิเภาใหญ่: ใบประกอบ 2–3 ชั้น มีใบย่อย 3–6 คู่ ยาวเท่า ๆ กัน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก อับสปอร์เรียงเป็นกลุ่ม (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์, ปรีชา การะเกตุ)

ลิเภายุ่ง
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Lygodium microphyllum (Cav.) R.Br.

Lygodiaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน เลื้อยยาว 10–15 ม. เหง้าทอดนอน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. มีขนสีน้ำตาลดำหรือแดงตามเหง้า และโคนก้านใบ ใบประกอบ 3 ชั้น แกนกลางใบประกอบยาว 5–10 ซม. มีครีบเป็นปีกแคบ ๆ ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ใบประกอบย่อยยาว 5–8 ซม. เรียงห่าง ๆ กัน ก้านยาว 3–6 มม. มีใบย่อยข้างละ 3–7 ใบ เรียงสลับ ก้านใบย่อยยาว 2–4 มม. ใบย่อยที่ไม่สร้างสปอร์รูปสามเหลี่ยม หรือจักเว้า 2–3 แฉก ยาว 1.5–3 ซม. กว้าง 1–2 ซม. ปลายมนกลม โคนตัดหรือเว้าตื้นเป็นติ่งมน เส้นใบแตกเป็นง่าม ใบย่อยสร้างสปอร์ขนาดเล็กและแคบกว่าเล็กน้อย กลุ่มอับสปอร์เกิดที่ขอบใบ

พบในเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามลุ่มน้ำขัง ชายป่า ขอบป่าพรุ ความสูงระดับต่ำ ๆ น้ำคั้นจากต้นมีสรรพคุณแก้อาการอักเสบภายใน และท้องเสีย

ชื่อพ้อง  Ugena microphylla Cav.

ชื่อสามัญ  Old World climbing fern

ชื่ออื่น   กะฉอดหนู (จันทบุรี, ตราด); รีบูปาดี, ลิบูชือนิง (มาเลย์-นราธิวาส); ลิเภายุ่ง (ภาคใต้)

ลิเภายุ่ง: เฟินเลื้อยพันหรือคลุมพืชอื่น ใบประกอบ 3 ชั้น ใบย่อยโคนตัดหรือเว้าตื้นเป็นติ่งมน กลุ่มอับสปอร์เกิดที่ขอบใบ (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)

ลิเภาหางไก่
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Lygodium circinnatum (Burm.f.) Sw.

Lygodiaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน เลื้อยยาวได้ถึง 10 ม. ปลายเป็นปีกแคบ ๆ เหง้าสั้น มีขนสีดำหนาแน่น ใบประกอบ 3 ชั้น แกนกลางใบประกอบสั้น ก้านใบยาว 40–50 ซม. โคนก้านใบมีขนสีดำ แกนกลางใบประกอบย่อยยาว 2–6 ซม. ใบย่อยแฉกลึกรูปฝ่ามือ 2–7 พู กว้าง 2–3 ซม. ยาว 20–25 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือรูปลิ่มกว้าง ขอบจักเป็นคลื่นเล็กน้อย หนา เส้นใบแตกเป็นง่าม มีขนประปราย ใบสร้างสปอร์แคบ กลุ่มอับสปอร์เกิดที่ขอบใบ ยาว 2–5 มม.

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ชายป่าดิบชื้น และชายป่าพรุ ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Ophioglossum circinatum Burm.f.

ชื่ออื่น   ย่านพิเภก (สุราษฎร์ธานี); ลิเภาหางไก่ (ยะลา)

ลิเภาหางไก่: เฟินเลื้อยพันต้นไม้ ใบย่อยแฉกลึกรูปฝ่ามือ กลุ่มอับสปอร์เกิดที่ขอบใบ (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1979). Polypodiaceae. In Flora of Thailand 3(1): 59–67.

Xianchun, Z. and J.G. Hanks. (2013). Lygodiaceae. In Flora of China Vol. 2–3: 118–121.