ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. ตาที่ยอดเรียงซ้อนเหลื่อม กิ่งมีช่องอากาศ หูใบรูปแถบ ยาว 2.5–3 ซม. ใบประกอบปลายคู่ มีใบย่อย 2–3 คู่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 3.5–8 ซม. เบี้ยว ปลายแหลมยาว ไร้ก้าน แผ่นใบด้านล่างมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ 9–11 เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ ใบประดับเป็นเกล็ด ติดทน ใบประดับย่อย 2 อัน ขนาดไม่เท่ากัน ยาว 5–7 มม. ก้านดอกยาว 1.5–3 ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ขนาดไม่เท่ากัน ยาว 7–9 มม. เรียงซ้อนเหลื่อม พับงอกลับ กลีบดอก 5 กลีบ รูปใบหอก ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง พับงอกลับ เกสรเพศผู้จำนวนมาก โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน รังไข่มีขนแบบขนแกะหนาแน่น มีก้านสั้น ๆ ติดเบี้ยวบนฐานดอก ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มม. ยอดเกสรรูปโล่ ผลเปลือกแข็ง รูปรี โค้งงอเล็กน้อย ผนังหนา ผิวขรุขระ มี 2 เมล็ด
พบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่คลองลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง อันเป็นที่มาของชื่อไทย ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้นที่เป็นหินปูน ความสูง 100–200 เมตร
สกุล Maniltoa Scheff. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Caesalpinioideae เผ่า Detarieae คล้ายกับสกุลมะคะ Cynometra แต่มีจำนวนเกสรเพศผู้มากกว่า มี 20–25 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก พบมากในนิวกินี ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษามาเลเซียหรือปาปัวที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้
|