สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ลำพูป่า

ลำพูป่า
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Duabanga grandiflora (Roxb. ex DC.) Walp.

Lythraceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. โคนต้นมีพูพอน กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 10–24 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลมหรือเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมีนวล ก้านใบยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 3–4 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 6–7 กลีบ หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วย กลีบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กลับ ยาว 1–3 ซม. บานออก ดอกสีขาว มีกลิ่นแรง กลีบรูปรี ยาว 4 ซม. ย่น ก้านกลีบยาว 2–4 มม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียง 2 วง อับเรณูติดไหว โค้ง รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ออวุลจำนวนมาก ผลแห้งแตกเป็น 6–9 ซีก รูปไข่กว้างเกือบกลม กว้าง 4–4.5 ซม. ยาว 3–4 ซม. กลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ ยาว 4–6 มม. มี 2 หาง รูปเส้นด้าย

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง ตามหุบเขา ริมลำธาร หรือที่ชุ่มชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร เนื้อไม้ใช้ทำกล่อง ไม้พาย เรือแคนู และก้านร่ม เปลือกมีพิษใช้เบื่อปลา

สกุล Duabanga Buch.-Ham. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Sonneratiaceae มี 3 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นภาษาเบงกาลี “duyabanga” ที่ใช้เรียกลำพูป่า

ชื่อพ้อง  Lagerstroemia grandiflora Roxb. ex DC., Duabanga sonneratioides Buch.-Ham.

ชื่อสามัญ  Achung, Duabanga, Lampati

ชื่ออื่น   กระดังงาป่า (ภาคตะวันตกเฉียงใต้); กาปลอง (ชอง-จันทบุรี); กาลา, ตุ้มเต๋น, ตุ้มบก, ตุ้มลาง, ตุ้มอ้า, เต๋น, ลูกลาง, อ้า (ภาคเหนือ); กู, ซังกะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); โก (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร); ขาเขียด (ชุมพร); คอเหนียง (เชียงใหม่); ตะกาย, ตะกูกา, โปรง, ลำพูป่า (ภาคใต้); บ่อแมะ (มาเลย์-ยะลา); บะกูแม (มาเลย์-นราธิวาส); เยี่ยวแมว (เลย); ลำพูขี้แมว (ระนอง); ลำพูควน (ปัตตานี); ลำแพน (ตรัง); ลำแพนเขา (ยะลา); ลิ้นควาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); สะบันงาช้าง (แพร่); หงอนไก่ (ประจวบคีรีขันธ์)

ลำพูป่า: ใบเรียงตรงข้าม โคนเว้าตื้น ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบดอกย่น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแห้งแตก กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Qin, H., S.A. Graham and M.G. Gilbert. (2007). Lythraceae. In Flora of China Vol. 13: 276.

Santisuk, T. (1992). Sonneratiaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(4): 434–435.