Index to botanical names
ลำป้าง
Malvaceae
ไม้ต้น มีขนกระจุกรูปดาวหรือเกล็ดขุยกระจาย ใบเรียงเวียน หูใบเรียบหรือจักชายครุย ร่วงเร็ว ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ มี 1–5 ดอก ริ้วประดับเรียบหรือจักชายครุย ส่วนมากมี 3 อัน ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงหนา มี 5 กลีบ แฉกลึกหรือแยกจรดโคน พับงอกลับ กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือครีม เกสรเพศผู้มีประมาณ 15 อัน กลุ่มละ 3 อัน ติดระหว่างเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปเส้นด้าย หนาและยาวกว่าเกสรเพศผู้ ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกกัน รังไข่มี 5 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรจักเป็น 5 สัน ผลแห้งแยกเป็น 5 ซีก เรียบหรือมี 5 สัน ผนังหนา ปลายเมล็ดมีปีกบางสกุล Pterospermum เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Bombacoideae มีประมาณ 40 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 9–10 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pteron” ปีก และ “sperma” เมล็ด หมายถึงเมล็ดมีปีก
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่ม ขนกระจุกรูปดาว หรือเกล็ดขุยหนาแน่นตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง กลีบเลี้ยงทั้งสองด้าน กลีบดอกด้านนอก รังไข่ และโคนก้านเกสรเพศเมีย ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ปลายแหลม โคนรูปลิ่มกว้าง มน หรือเว้าตื้น ๆ ริ้วประดับ 3 ใบ รูปใบหอก กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 8–17 ซม. แฉกลึก พับงอกลับ ดอกสีขาว กลีบรูปใบหอกกลับ ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ยาว 4–6 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน ยาว 4–8 ซม. มีต่อมโปร่งใสกระจาย ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–4 ซม. ยอดเกสรบิดเกลียว ผลรูปขอบขนาน มี 5 สัน ยาว 7–20 ซม. เมล็ดยาว 2–5 ซม. รวมปีกบาง ๆพบที่อินเดีย เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร
ชื่ออื่น ขนาน, ลำป้าง (ปราจีนบุรี); จำปาเทศ (ภาคกลาง); จำปีแขก (ภาคใต้); บาโย, ลีงอกาเยาะ (มาเลย์-นราธิวาส); ปายู, ยู (กระบี่); มะโย (มาเลย์-ยะลา); ลกป้าง (เขมร-ปราจีนบุรี); ล่อ (สุราษฎร์ธานี); ละป้าง, สะละป้าง (สระบุรี); เหลืองนา (จันทบุรี)
ลำป้าง: แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดขุยหนาแน่น ผลรูปขอบขนาน มี 5 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 599–615.
Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 327.