ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนสั้นนุ่มและขนกระจุกหนาแน่นตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยง และตามขนแข็งที่ผล ใบเรียงเวียน รูปไข่ ยาว 8–10 ซม. ปลายแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปหัวใจ เบี้ยว ขอบจักซี่ฟันตื้น ๆ ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง 2 ง่าม หลายครั้ง ยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ โคนแผ่กว้าง สองข้างเว้าเป็นติ่ง ปลายเรียวแคบ ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์และที่เป็นหมันเชื่อมติดกัน อันที่สมบูรณ์ 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก ยาวประมาณ 0.5 มม. มีโคนกลีบดอกหุ้ม อับเรณูกลม หันออก อันที่เป็นหมัน 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบเลี้ยง รูปแถบ ยาวประมาณ 1.5 มม. มีขนประปราย รังไข่มี 5 ช่อง มีขนยาว แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน สั้น ผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีขนแข็งยาวหนาแน่น ก้านผลยาวประมาณ 1 ซม.
พบที่จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป ขึ้นตามชายป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ความสูงไม่เกิน 100 เมตร
สกุล Commersonia J.R.Forst. & G.Forst. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Byttnerioideae มี 9 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียและออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Philibert Commerson (1727–1773)
|
ชื่อพ้อง Muntingia bartramia L., Commersonia platyphylla Andrews
|
|
|
ชื่ออื่น กีลา (มาเลย์-นราธิวาส); จงเล็ด (พัทลุง); ตาไฉ (สุราษฎร์ธานี); ปอลังเค้า (นราธิวาส); มาย, ลังเค้า (สงขลา); วีรา (มาเลย์-นราธิวาส)
|
|
ลังเค้า: มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั่วไป ขอบใบจักซี่ฟันตื้น ๆ โคนใบเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง 2 ง่าม หลายครั้ง มีขนแข็งยาวหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|