ไม้เถา กิ่งมีช่องอากาศ ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือเกือบกลม ยาว 5–10.5 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง ปลายมีติ่งแหลม โคนกลม ตัด หรือเว้าตื้น มักมีขนประปรายตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว 10–25 ซม. ช่อที่ปลายกิ่งสั้น ใบประดับคล้ายใบ ยาว 2–4.5 ซม. ติดทน ก้านดอกยาว 3–5 มม. ใบประดับย่อย 2 ใบ คล้ายเกล็ด กลีบเลี้ยงกลีบนอก 2 กลีบ กลีบใน 3 กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 4–5 มม. ดอกรูประฆัง สีขาว ยาว 7–8 มม. มี 5 กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาว 5–6 มม. อับเรณูไม่เป็นหนาม รังไข่ส่วนมากมีช่องเดียว ออวุล 4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 2 แฉกไม่เท่ากัน เหนือจุดกึ่งกลาง ยอดเกสรจัก 2 พู ผลเป็นกระเปาะ รูปไข่หรือจัก 2–3 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–4 มม. กลีบเลี้ยงเป็นแผ่นบาง พับงอ ยาวประมาณ 1 ซม. ส่วนมากมีเมล็ดเดียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–3 มม.
มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในไทยไม่พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอม ไม่ติดผล
สกุล Porana Burm.f. มีหลายชนิดถูกแยกเป็นสกุลอื่น ๆ เช่น Dinetus, Poranopsis, และ Tridynamia ปัจจุบันมี 2 ชนิด พบในเอเชียและเม็กซิโกอย่างละ 1 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “poreno” ท่องเที่ยว หมายถึงเป็นไม้เถาที่เลื้อยไปตามที่ต่าง ๆ
|