| รำเพย
| | | วันที่ 28 เมษายน 2560 |
| Cascabela thevetia (L.) Lippold |
|
ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. น้ำยางสีขาว ใบเรียงเวียน รูปแถบ ยาว 6–12 ซม. มีต่อมตามซอกใบ เส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี 5–8 ดอก บานครั้งละ 1–2 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 0.7–1 ซม. ติดทน ดอกสีเหลือง รูปลำโพง กลีบดอกเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบดอกยาว 2.5–3 ซม. มี 5 กลีบ รูปขอบขนาน บิดเวียน เรียงซ้อนเหลื่อม ยาวประมาณ 3 ซม. ด้านในมีขนสั้นนุ่ม กะบังขนาดเล็กอยู่ด้านบนและล่างของเกสรเพศผู้ มีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบดอก จานฐานดอกสูงประมาณ 1 มม. คาร์เพล 2 อัน เชื่อมติดกันครึ่งล่าง ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1 ซม. ผลผนังชั้นในแข็ง ยาว 3–5 ซม. มี 2 ซีกเชื่อมติดกันคล้ายรูปสามเหลี่ยมกลับ แต่ละซีกมีเมล็ดเดียว แบน มีปีกเล็ก ๆ
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ประดับทั่วไป มีหลากสายพันธุ์ อนึ่ง ชื่อ รำเพย ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์เจ้ารำเพยภมรภิรมย์ ภายหลังได้เป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทร์ทรามาตย์ ในรัชกาลที่ 4 และเป็นพระราชชนนีของรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานดอกรำเพยเป็นตราเครื่องหมายประจำโรงเรียนเทพศิรินทร์
สกุล Cascabela Raf. พบในอเมริกาเขตร้อน มี 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาสเปน “cascavel” หรือ “cascabela” หมายถึงระฆังขนาดเล็กตามลักษณะดอก ส่วนคำระบุชนิดตั้งตามชื่อพระชาวฝรั่งเศสที่เคยเดินทางเผยแผ่ศาสนาและสำรวจพรรณไม้ในบราซิล Andre Thevet (1520–1592)
| | | ชื่อสามัญ Be still tree, Lucky nut, Trumpet flower, Yellow Oleander
| ชื่ออื่น กระบอก, กะทอก (กรุงเทพฯ); แซน่าวา, แซะศาลา (ภาคเหนือ); บานบุรี, ยี่โถฝรั่ง (กรุงเทพฯ); รำพน (ภาคเหนือ); รำเพย (ภาคกลาง)
| | รำเพย: ใบเรียงเวียน รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ดอกรูปลำโพง กลีบดอกบิดเวียน เรียงซ้อนเหลื่อม ผลมี 2 ซีกเชื่อมติดกันคล้ายรูปสามเหลี่ยมกลับ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|