สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

รามใหญ่

รามใหญ่
วันที่ 28 เมษายน 2560

Ardisia elliptica Thunb.

Primulaceae

ไม้พุ่ม ส่วนมากสูงไม่เกิน 4 ม. ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–12 ซม. ปลายแหลมหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบมีต่อมกระจาย เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่นออกเป็นกระจุกตามซอกใบ เรียงหนาแน่นช่วงปลายช่อ ก้านช่อยาว 1.5–2.5 ซม. ก้านดอกยาว 0.8–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 มม. มี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม แฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง รูปไข่กว้าง ปลายมน มีต่อมกระจาย ขอบมีขนครุย ดอกสีชมพู หลอดกลีบดอกสั้น มี 5 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 8–9 มม. ปลายแหลมยาว มีต่อมเป็นแนวประปราย เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มม. ปลายเป็นติ่งแหลม ด้านนอกมีจุดโปร่งใสหรือสีน้ำตาลอ่อนกระจาย รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 6 มม. ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มม. สุกสีดำ

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่งทะเล ป่าโกงกาง ป่าชายหาด และเป็นไม้ประดับหรือพืชสมุนไพร บางพื้นที่กลายเป็นวัชพืช ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย

สกุล Ardisia Sw. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Myrsinaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Myrsinoideae มีประมาณ 450 ชนิด พบในอเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 72 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “ardis” ปลายแหลม ตามลักษณะอับเรณู

ชื่อสามัญ  Duck’s eyes, Seashore Ardisia

ชื่ออื่น   ตาไก่ (ภาคใต้); ทุลังกาสา (ชุมพร); ปือนา (มาเลย์-นราธิวาส); ผักจ้ำ, มะจ้ำ (ภาคใต้); รามใหญ่ (ชุมพร); ลังพิสา (ตราด)

รามใหญ่: เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ดอกเรียงหนาแน่นช่วงปลายช่อ อับเรณูปลายเป็นติ่งแหลม ด้านนอกมีจุดโปร่งใสหรือสีน้ำตาลอ่อน ผลสุกสีดำ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, J. and J.J. Pipoly. (1996). Myrsinaceae. In Flora of China Vol. 15: 14.

Larsen, K. and C.M. Hu. (1996). Myrsinaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(2): 128.