สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

รางจืด

รางจืด  สกุล
วันที่ 28 เมษายน 2560

Thunbergia Retz.

Acanthaceae

ไม้เถาล้มลุกหรือไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้าม ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อแบบช่อกระจะ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ใบประดับคล้ายใบ 2 ใบ ใบประดับย่อย 2 ใบ หุ้มกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ขอบจักตื้น ๆ รูปลิ่มแคบ หรือเรียบ ดอกรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ บิดเวียนในตาดอก เกสรเพศผู้อันยาว 2 อัน อันสั้น 2 อัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก ไม่ยื่นพ้นปากหลอด อับเรณูมี 2 พู จานฐานดอกคล้ายเบาะ มีต่อมน้ำต้อย รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรจัก 2 พู เรียบหรือจักชายครุย ผลแห้งแตก 2 ซีกตามยาว ปลายเป็นจะงอย มี 2–4 เมล็ด เรียบ

สกุล Thunbergia อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Thunbergioideae มีประมาณ 90 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ และเอเชียเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมืองประมาณ 8 ชนิด และนำเข้ามาเป็นไม้ประดับ 3 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน Carl Peter Thunberg (1743–1828)


รางจืด
วันที่ 28 เมษายน 2560

Thunbergia laurifolia Lindl.

Acanthaceae

ไม้เถา ยาวมากกว่า 10 ม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ช่วงโคนใบบางครั้งจักตื้น ๆ ยาว 4–18 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนกลม ตัด เว้าตื้น หรือคล้ายลูกศร ขอบจักซี่ฟันตื้น ห่าง ๆ แผ่นใบเกลี้ยง เส้นโคนใบส่วนมากมีข้างละ 2 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 6 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 30 ซม. แต่ละกระจุกมีประมาณ 4 ดอก ก้านดอกยาว 1–3 ซม. ใบประดับย่อยหุ้มกลีบเลี้ยง รูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วยขนาดเล็ก ขอบเกือบเรียบ มีต่อมน้ำต้อย ดอกสีม่วงอมน้ำเงินหรือสีขาว ด้านในสีครีมอมเหลือง หลอดกลีบดอกยาว 3–5 ซม. กลีบกลมหรือรูปไข่กว้าง ยาว 2–4 ซม. ก้านชูอับเรณู ยาว 0.8–1 ซม. อับเรณูยาวเท่า ๆ ก้านชูอับเรณู รังไข่เกลี้ยง ผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. จะงอยยาว 1.5–3 ซม.

พบที่อินเดีย พม่า และมาเลเซีย ในไทยพบกระจายห่างๆ ทุกภาค พบมากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร เป็นไม้ประดับ หรือขึ้นเป็นวัชพืช คล้ายกับสร้อยอินทนิล T. grandiflora (Roxb. Ex Rottler) Roxb. ที่ใบจักเป็นพู และช่อดอกยาวกว่า มีสรรพคุณใช้ถอนพิษ แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่าง ๆ

ชื่อสามัญ  Blue trumpet vine, Laurel clock vine

ชื่ออื่น   กำลังช้างเผือก, ขอบชะนาง, เครือเขาเขียว, ยาเขียว, รางจืด (ภาคกลาง); คาย, รางเย็น (ยะลา); จอลอดิเออ, ซั้งกะ, ปั้งกะล่ะ, พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ดุเหว่า (ปัตตานี); ทิดพุด (นครศรีธรรมราช); น้ำนอง (สระบุรี); ย่ำแย้, แอดแอ (เพชรบูรณ์)

รางจืด: ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ใบประดับคล้ายใบ ดอกรูปแตร กลีบดอกขนาดเท่า ๆ กัน เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

รางจืดต้นภูคา
วันที่ 28 เมษายน 2560

Thunbergia colpifera B.Hansen

Acanthaceae

ดูที่ รางจืดภูคา

รางจืดภูคา
วันที่ 28 เมษายน 2560

Thunbergia colpifera B.Hansen

Acanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นเกลี้ยง ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 19–28 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนเรียวสอบ เส้นแขนงใบข้างละ 6–7 เส้น ช่อดอกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ มี 2–4 ดอก ใบประดับรูปใบหอก ยาว 5–6 มม. ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ใบประดับย่อยคล้ายกาบหุ้มกลีบเลี้ยง รูปไข่ ยาว 1.5–2.5 ซม. กลีบเลี้ยงจักซี่ฟันตื้น ๆ ไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีขาว ด้านในมีปื้นสีแดงอมม่วง หลอดกลีบดอกยาว 2.5–2.8 ซม. ด้านในมีขนและต่อมช่วงโคน กลีบปากรูปกลม ขอบมีขนครุย กลีบบน 2 กลีบ กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 7 มม. กลีบล่าง 3 กลีบ รูปรีกว้าง กลีบกลางขนาดใหญ่กว่ากลีบข้างเล็กน้อย ยาวประมาณ 9 มม. ก้านชูอับเรณูยาว 4–6 มม. มีต่อมหนาแน่น อับเรณูยาวประมาณ 6 มม. มีรยางค์เป็นขน รังไข่และก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ผลฐานกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม จะงอยรูปดาบ ยาว 1.5–2 ซม. ก้านผลยาวได้ถึง 2.3 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1500–1600 เมตร

ชื่ออื่น   รางจืดต้นภูคา, รางจืดภูคา (ทั่วไป)

รางจืดภูคา: ช่อดอกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ ใบประดับย่อยคล้ายกาบหุ้มกลีบเลี้ยง ดอกรูปแตร ผลฐานกลม ปลายเป็นจะงอย แห้งแตก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Hansen, B. (1995). Notes on SE Asian Acanthaceae 2. Nordic Journal of Botany 15(6): 583–585.

Hu, J.Q. and T.F. Daniel. (2011). Acanthaceae (Thunbergia). In Flora of China Vol. 19: 377.

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.