สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ระไมป่า

ระไมป่า
วันที่ 28 เมษายน 2560

Baccaurea bracteata Müll.Arg.

Phyllanthaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. กิ่งมีขนสั้นนุ่ม ใบรูปไข่ รูปไข่กลับ แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 20 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีต่อมสีดำกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ 3–8 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 8.5 ซม. ใบประดับยาว 2–6 มม. ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มี 1–3 ช่อ ยาวได้ถึง 15 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–2 มม. ช่อดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ยาวได้ถึง 7 ซม. ก้านดอกยาวกว่าในดอกเพศผู้เล็กน้อย กลีบเลี้ยงเรียวแคบ ยาวได้ถึง 1 ซม. ติดค่อนข้างทน ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียยาว 1–2.5 มม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นละเอียด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีเหลืองหรืออมส้ม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะไฟ, สกุล)

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าชายเลน ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร ผลรสเปรี้ยว

ชื่ออื่น   ขวัญข้าว (ตรัง); ขอแรง (ภาคใต้); คอแลน (นราธิวาส); ตือเราะแบเวาะ (มาเลย์-นราธิวาส); มะไฟลิง (ภาคใต้); ระไมป่า (นราธิวาส)

ระไมป่า: กิ่งมีขนสั้นนุ่ม ช่อผลออกเดี่ยว ๆ ผลกลม ด้านนอกมีขนสั้นละเอียด (ภาพ: พาโชค พูดจา)



เอกสารอ้างอิง

Haegen, R.M.A.P. and P.C. van Welzen. (2005). Euphorbiaceae (Baccaurea). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 109.