สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ระฆังแก้ว

ระฆังแก้ว
วันที่ 28 เมษายน 2560

Campanumoea javanica Blume

Campanulaceae

ไม้เถา มีหัวใต้ดิน ลำต้นเกลี้ยง ใบเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปไข่หรือรูปหัวใจ ยาว 2.5–8 ซม. โคนเว้าตื้น ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนประปรายด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5–6 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1–5 ซม. กลีบเลี้ยงอยู่ใต้รังไข่ ไม่เชื่อมติดรังไข่ ติดทน มี 5 กลีบ แฉกลึกเกือบจรดโคน กลีบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1–2 ซม. ดอกสีขาวอมเขียว ด้านในมีลายสีม่วงอ่อน รูประฆังคว่ำ ยาว 1.5–3.5 ซม. ปลายแยก 5 แฉก ลึกประมาณกึ่งหนึ่ง เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ติดใต้รังไข่ ไม่ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่ใต้กลีบดอก มี 5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ยอดเกสรจัก 3 พู ผลสด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. ผลแก่สีม่วง เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม ชวา ในไทยพบกระจายทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกที่ชัยภูมิ ขึ้นตามชายป่าดิบเขาหรือป่าสน ความสูง 1000–2000 เมตร

สกุล Campanumoea Blume มีเพียงชนิดเดียว แยกเป็น subsp. japonica (Makino) D.Y.Hong พบที่จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “ampana” หมายถึงคล้ายระฆัง ตามลักษณะดอก

ชื่อพ้อง  Codonopsis javanica (Blume) Hook.f. & Thomson

ชื่ออื่น   พวงชวา, ระฆังแก้ว (ทั่วไป)

ระฆังแก้ว: ใบเรียงตรงข้าม ดอกออกเดี่ยว ๆ รูประฆังคว่ำ ยอดเกสรเพศเมียจัก 3 พู กลีบเลี้ยงติดทน ผลแก่สีม่วง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

de Wilde, W.J.J.O. and B.E.E. Duyfjes. (2014). Campanulaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(4): 507–510.