สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ระฆังทอง

ระฆังทอง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Pauldopia ghorta (Buch.-Ham. ex G.Don) Steenis

Bignoniaceae

ไม้ต้น สูง 4–7 เมตร ใบประกอบ 2 ชั้น ยาว 20–45 ซม. แกนกลางมีปีกแคบ ๆ ใบย่อยมี 3–4 คู่ รูปรี รูปขอบขนาน แกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 3–9 ซม. มีขนหยาบแข็งและต่อมประปรายบนเส้นใบด้านล่างและขอบใบ ปลายแหลมยาว ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง 20 ซม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 1–2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉกขนาดเล็ก มีต่อมเป็นแถบยาว ดอกรูปแตร หลอดกลีบดอกสีเหลือง ยาว 3–6 ซม. โค้งเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกือบกลม แผ่นกลีบสีน้ำตาลแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน ยาว 2–2.5 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 1 อัน ขนาดเล็ก จานฐานดอกรูปวงแหวน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 ซม. ผลแห้งแตก รูปแถบ ยาว 22–34 ซม. เมล็ดกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม. ไม่มีปีก

พบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือที่น่าน ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามพื้นที่เปิดโล่งในป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

สกุล Pauldopia Steenis มีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Paul Louis Amans Dop (1876–1954)

ชื่อพ้อง  Bignonia ghorta Buch.-Ham. ex G.Don

ระฆังทอง: ใบประกอบ 2 ชั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกรูปแตร โค้งเล็กน้อย สีเหลือง แผ่นกลีบสีน้ำตาลแดง ผลรูปแถบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Santisuk, T. (1987). Bignoniaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 45–46.

Zhang, Z.Y. and T. Santisuk. (1998). Bignoniaceae. In Flora of China Vol. 18: 216.